Custom Search
Latest Article Get our latest posts by subscribing this site

ความเป็นมาของการออกธนบัตรและการพิมพ์ธนบัตร

รัฐบาลไทยได้จ้างบริษัทโทมัส เดอ ลา รู ของอังกฤษพิมพ์ธนบัตรไทย และเริ่มนำธนบัตรออกใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ และได้หันมาพิมพ์เองในประเทศและให้ญี่ปุ่น จัดพิมพ์ให้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อครั้งที่ญี่ปุ่น ได้ยาตราทัพเข้ามาในประเทศไทย หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ บริษัทโทมัส เดอ ลา รู ได้รับความเสียหายไม่สามารถกลับมาพิมพ์ธนบัตรให้ประเทศไทยได้ รัฐบาลได้ว่าจ้างบริษัททิวดอร์ของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้จัดพิมพ์ให้ จนถึงพ.ศ. ๒๔๙๐ ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งรับหน้าที่ในการจัดพิมพ์ธนบัตรของรัฐบาลจึงได้หวนกลับไปว่าจ้างบริษัทโทมัส เดอ   ลา รู ของอังกฤษ จัดพิมพ์ธนบัตรไทยอีกครั้ง จนกระทั่งมีการตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นในประเทศไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ จึงได้เริ่มพิมพ์ธนบัตรเองในประเทศสืบมาจนทุกวันนี้
          การออกธนบัตรจะต้องเป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อให้ธนบัตรเป็นที่เชื่อถือของประชนชน นั่นคือ เป็นไปตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติเงินตรา

          ตามพระราชบัญญัติเงินตรา ธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำธนบัตรออกใช้ได้ใน ๒ กรณี คือ
          ๑. แลกกับธนบัตรชำรุด
          ๒. แลกกับสินทรัพย์ในจำนวนที่เท่ากัน สินทรัพย์จำนวนนี้หมายถึง ทองคำ เงินตราต่างประเทศ หลักทรัพย์ต่างประเทศ หลักทรัพย์รัฐบาลไทย และหลักทรัพย์อื่น จำนวนสินทรัพย์ทั้งหมดส่วนที่เป็นทองคำ เงินตราต่างประเทศและหลักทรัพย์ต่างประเทศทั้งหมด จะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๐ ของธนบัตรที่นำออกใช้ทั้งสิ้น

          ธนบัตรที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำออกใช้ เป็นธนบัตรของรัฐบาลมีคำว่ารัฐบาลไทยอยู่บนธนบัตร ตามกฎหมายตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถออกธนบัตรของตนเองได้ เรียกว่า บัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทยออกบัตรธนาคารครั้งแรก เป็นธนบัตรฉบับละ  ๖๐ บาท ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ และออกในโอกาสพิเศษ คือ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ บุคคลทั่วไปจึงไม่นำออกใช้ ส่วนธนบัตรชนิดราคาอื่นๆ ยังเป็นธนบัตรของรัฐบาลเช่นเดิม



ที่มา http://guru.sanook.com/

ความหมายและประวัติความเป็นมาของธนบัตร

 

ในปี พ.ศ. ๒๔๐๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้จัดทำ "หมาย" ขึ้นมีราคาต่างๆ กัน ตั้งแต่ ๑ บาท เป็นลำดับลงมาจนใบละเฟื้อง โดยพิมพ์ลงบนแผ่นกระดาษและประทับตราพระราชลัญจกร ๓ ดวง และยังทรงให้สร้างใบ "พระราชทานเงินตรา" อีกแบบหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายเช็คในปัจจุบัน นับได้ว่ามีการใช้เงินตราทำด้วยกระดาษขึ้นในเมืองไทยเป็นครั้งแรกอันเป็นต้นตอของธนบัตร



          ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้มีการออกอัฐกระดาษขึ้น แต่ไม่เป็นที่นิยมจึงได้เลิกไป จนปี พ.ศ. ๒๔๔๕ จึงได้ออกธนบัตรชนิดละ ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท ๑๐๐ บาท และ ๑,๐๐๐ บาท การจัดพิมพ์ธนบัตรได้จ้างพิมพ์มาจากต่างประเทศทั้งสิ้น คือจ้างบริษัทโทมัส เดอ ลา รู (Thomas de la Rue) จากประเทศอังกฤษ จนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ การคมนาคมติดขัด
          ประกอบกับประเทศไทยประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษด้วย ทำให้ไม่สามารถจ้างพิมพ์ธนบัตรที่เดิมได้ จึงได้จ้างพิมพ์จากแหล่งอื่นๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่น และพิมพ์ขึ้นเองในประเทศไทยธนบัตรที่พิมพ์ขึ้นเองในยุคนั้น พิมพ์ที่โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหารบก แต่พิมพ์ได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้งาน จึงต้องจ้างพิมพ์ในโรงพิมพ์อื่นๆ ทั้งของส่วนราชการและของเอกชนในประเทศด้วย




          เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงแล้ว มีการกลับไปจ้างพิมพ์ธนบัตรจากต่างประเทศอีกและได้มีการเปลี่ยนแหล่งจ้างพิมพ์ การพิมพ์ธนบัตรนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของบ้านเมือง รัฐบาลจึงได้มอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินการศึกษาและจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรเพื่อพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้เองในเมืองไทย คือได้มีการสร้างโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นในสังกัดธนาคารแห่งประเทศไทยและทำพิธีเปิดดำเนินการในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยเริ่มพิมพ์ธนบัตรฉบับละ ๕ บาทออกมาก่อนและทยอยพิมพ์ฉบับที่มีมูลค่าสูงๆ ขึ้นไปออกมาตามลำดับและได้พิมพ์ธนบัตรฉบับ ๕๐๐ บาทออกใช้ด้วยในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้มีการจัดพิมพ์บัตรธนาคารออกมาเป็นพิเศษมีมูลค่าฉบับละ ๖๐ บาท เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ




หมอบลัดเลย์ บิดาแห่งวงการพิมพ์ของไทย

หมอบรัดเลย์ หรือ แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley, M.D.)เป็นหมอสอนศาสนา ชาวเมืองมาร์เซลลัส (Marcellus) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบุครคนที่ 5 ของ นายนายแดน บรัดเลย์และนางยูนิช บีช บรัดเลย์ บิดาเป็นต้นแบบของหมอบลัดเลย์โดยเคยเป็นทั้ง หมอสอนศาสนา ผู้พิพากษา เกษตรกร และบรรณาธิการวารสารทางเกษตรกรรม ดังนั้นจึงสร้างเป็นแนวความคิดให้หมอบลัดเลย์ใฝ่ฝันอยากจะเผยแพร่ศาสนาอย่างผู้เป็นบิดาบ้างจึงตัดสินใจเข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์ เมื่อจบการศึกษาก็สมัครเป็นมิชชั่นนารีในองค์กร American Board of Commissioners of Foreign Missions(ABCFM) หมอบลัดเลย์เดินทางมาเผยแพร่ ศาสนาในประเทศไทยในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 โดยได้แวะที่สิงคโปร์และได้รับชุดตัวพิมพ์ภาษาไทยที่ American Board of Commissioners of Foreign Missions ในประเทศสิงคโปรได้ซื้อไว้ ก่อนจะเดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทย

หมอบรัดเลย์บิดาแห่งวงการพิมพ์ไทย
                               ภาพจากหนังสือหมอบรัดเลย์กับการหนังสือพิมพ์แห่งกรุงสยาม(สนพ.ศิลปวัฒนธรรม)



ในระยะแรกหมอบลัดเลย์ได้อาศัยอยู่ในละแวกสัมพันธวงศ์โดยเปิดเป็นร้านจ่ายยา และช่วยรักษาโรคให้แก่ชาวพระนคร ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ฝั่งธนบุรี และได้รักษาพยาบาลคนเรื่อยมาโดยผลงานที่สำคัญคือการผ่าตัดผู้ป่วยคนไทยจนสามารถรักษาชีวิตเอาไว้ได้ถือว่าเป็นการผ่าตัดครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเลยทีเดียว ส่วนในงานเผยแพร่ศาสนานั้นหมอบลัดเลย์ก็ไม่ได้ละเลย ยังคงเผยแพร่คำสอนของศาสนาคริสต์อยู่เรื่อยมาและการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นั้นจำเป็นต้องมีหนังสือเพื่อช่วยให้คนเข้าอกเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาใหม่นี้ได้ง่ายขึ้นดังนั้นหมอบลัดเลย์จึงย้ายไปอาศัยอยู่ ข้างวัดประยูรวงศาวาส ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีทำเลดีและได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแพร่ศาสนา และได้ใช้ ตัวอักษรภาษาไทยที่ได้มาจากสิงคโปร์ในคราวที่แวะจอดเรือก่อนจะเข้ามาประเทศไทย งานชิ้นแรกที่ หมอบลัดเลย์พิมพ์เป็นภาษาไทยในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2382 คือ การพิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่นและห้ามค้าฝิ่น ที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำขึ้นจำนวน 9,000 แผ่น ซึ่งนับว่าเป็นเอกสารราชการไทยฉบับแรกที่พิมพ์ขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์

ต่อมาในปีพ.ศ. 2385 หมอบลัดเลย์ได้หล่อชุดพิมพ์ขึ้นมาใหม่ และในอีกสองปีต่อมาหมอบลัดเลย์ได้ใช้ชุดพิมพ์ตัวใหม่นี้ จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์รายเดือนภาษาไทยฉบับแรกขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่าชื่อว่า บางกอกรีคอเดอ (Bangkok Recorder) ออกวางจำหน่าย ซึ่งถือเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกที่มีขึ้นในประเทศไทย แต่หนังสือพิมพ์เล่มดังกล่าวก็อยู่ได้ไม่นานต้องปิดตัวไป เพราะเป็นช่วงเวลาที่ภรรยาของหมอบลัดเลย์สิ้นชีวิตพอดีทำให้การดำเนินกิจการหนังสือพิมพ์รีคอเดรอ์ไม่สามารถเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงต้องหยุดลงชั่วคราวโดยหมอบลัดเลย์ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศของตนเป็นระยะเวลาหนึ่งและได้แต่งงานใหม่ก่อนจะกลับคืนสู่ประเทศไทยอีกครั้ง กลับมาคราวนี้หมอหมอบลัดเลย์ได้ลาออกจาก American Board of Commissioners of Foreign Missions เข้ามาย้ายไปสังกัดองค์กร American Missionary Association (AMA) แทน 

องค์กรใหม่มีฐานะทางการเงินไม่สู้ดีเท่าทีควรจึงทำให้หมอบลัดเลย์ต้องหารายได้พิเศษโดยการพิมพ์หนังสือขาย เพื่อจุนเจือฐานะทางการเงิน โดยหนังสือที่พิมพ์ในช่วงนี้มีหลายหลายประเภททั้ง ตำราเรียนภาษาไทย เช่น ประถม ก กา จินดามณี หนังสือกฎหมายทั้งยังพิมพ์เรื่องในวรรณคดีต่างๆเช่น ราชาธิราช สามก๊ก เลียดก๊ก ไซ่ฮั่น เป็นต้นและในช่วงนี้เองที่ทำให้มีการซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเพื่อมาจัดพิมพ์วางจำหน่ายเป็นครังแรกในประเทศไทยเมื่อ หมอบลัดเลย์ได้ซื้อลิขสิทธิ์ของหนังสือ นิราศลอนดอนที่เขียนโดย หม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร) เป็นเงิน 400 บาท ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2404 ทำให้หนังสือเล่มดังกล่าวเป็นหนังสือเล่มแรกของไทยที่มีการซื้อขายลิขสิทธ์ตามแบบอย่างตะวันตก และสำนักพิมพ์ต่างๆก็ยังคงยึดถือหลักการนี้สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ที่มา http://vcharkarn.com/varticle/38234

ประวัติการพิมพ์ของในประเทศไทย

ในอดีตไทยใช้การเขียนบันทึกความรู้ต่างๆลงในใบลาน เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดกันระหว่างรุ่นสู่รุ่น เทคโนโลยีเกี่ยวกับการพิมพ์ ปรากฎขึ้นในดินแดนสยามเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันถือว่าเป็นยุคหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีที่มีชาวต่างชาติเข้ามาใช้ชีวิตในสยามมากมาย ทั้งจีน แขก และฝรั่ง หนังสือในรูปแบบของการพิมพ์ตัวอักษรมาพร้อมกับหมอสอนศาสนาชาวต่างชาติที่มีเป้าประสงค์หลักคือการเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในภูมิภาคนี้ บาทหลวงที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทในเรื่องการพิมพ์มากที่สุดในยุคนั้นคงไม่พ้นจากบาทหลวงชาวฝรั่งเศสนาม ลาโน (Mgr Laneau) ที่ได้จัดพิมพ์คำสอนทางคริสต์ศาสนาขึ้นมาเผยแพร่ จนเป็นที่พอพระทัยในองค์พระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และในคราวที่ ออกญาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นราชทูตเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสก็ได้เข้าเยี่ยมชมกิจการงานพิมพ์ของฝรั่งเศสและแสดงความสนอกสนใจเป็นอย่างมากจนกระทั่งในกาลต่อมาพระนารายณ์มหาราชทรงมีรับสั่งให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้น ที่เมืองลพบุรีอันเป็นสถานที่พระองค์ใช้พำนักอยู่ในช่วงปลายรัชกาล แต่ กิจการงานพิมพ์ของสยามในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาก็ต้องหยุดชะงักลงอีกครั้งเมื่อมีเกิดการผลัดแผ่นดิน เป็นแผ่นดินของพระเพทราชา ที่ไม่ค่อยโปรดพวกมิชชั่นนารีเท่าทีควรเป็นเหตุให้พัฒนาการเกี่ยวกับการพิมพ์ของสยามในช่วงนั้นต้องหยุดชะงัดลงไปด้วย

  หนังสือใบลานในยุคเก่า
                                           ภาพจาก http://kanchanapisek.or.th


บุคคลสำคัญในประวัติการพิมพ์ของไทยอีกคนหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือ นางจัดสัน (Nancy Judson) ซึ่งเป็นมิชชันนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในเมืองย่างกุ้งของประเทศพม่า มีความสนอกสนใจในภาษาไทยจึงได้ทำการหล่อตัวพิมพ์เป็นภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2356 หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สองไปแล้วราว 40 กว่า ปี แต่ต่อมาตัวพิมพ์ชุดนี้ยังไม่ทันได้ใช้งาน ก็ถูกซื้อไปเก็บไว้ที่ประเทศสิงคโปร์โดย โดยมิชชันนารีคณะ American Board of Commissioners for Foreign Missions อันเป็นคณะมิชชันนารี ที่ หมอบลัดเลย์ได้เข้ามาสังกัดอยู่ และภายหลังได้ใช้ชุดหล่อตัวพิมพ์ชิ้นนี้ พิมพ์หนังสือภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรกจนได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการพิมพ์ของไทย


ประวัติความเป็นมาการพิมพ์ของโลก


ก่อนที่เราจะมีหนังสือเป็นแหล่งความรู้หลักอย่างเช่นในปัจจุบันนี้ หนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์มีวิวัฒนาการที่ยาวนานข้ามยุคข้ามสมัยมานานนับพันปี หนังสือสื่อสิ่งพิมพ์ถือว่าเป็นความบันเทิงอย่างแรกๆของมนุษย์เรา แต่ในปัจจุบันเรามีสื่อที่หลากหลาขึ้น ทั้งในรูปของเสียง เช่น วิทยุ เพลง หรือภาพและเสียงอย่าง โทรทัศน์ DVD หรือสื่ออินเตอร์เนตที่มีเครือข่ายโยงใยไปทั่วโลก

วิวัฒนาการของหนังสือเกิดขึ้นการจากที่มนุษย์ได้เรียนรู้ สิ่งต่างๆสั่งสมเป็นความรู้และประสบการณ์จนกระทั่งลงมือละเลงวาดสิ่งที่พบเห็นมาและวิถีชีวิตไว้บนผนังถ้ำอันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ถ้ำจึงเป็นทั้งที่อยู่ค่อยคุ้มแดดคุ้มฝนและภัยจากสัตว์ร้ายที่ยังมีอยู่ชุกชุมในอดีต ทั้งยังกลายเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่คอยบันทึกเรื่องราวผ่านยุคสมัยให้สืบทอดมายังปัจจุบัน ในยุคก่อนประวัติศาสตร์เราพบ ศิลปะภาพพิมพ์บนผนังถ้ำในประเทศฝรั่งเศส และสเปน ทั้งยังมีการค้นพบรูปสลักผนังถ้ำที่มีอายุเก่าแก่ต่างๆมากมายในถ้ำต่างๆ การแกะสลักภาพวิถีชีวิตของคนในยุคนั้นถือว่าเป็นหลักฐานอย่างแรกในการ แกะแบบพิมพ์ของมนุษย์


42 - Line Bible เอกสารชิ้นแรกของโลกที่ผ่านระบบการพิมพ์
                                                                ภาพจาก http://gotoknow.org


เมื่อโลกเราก้าวเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ราวก่อนคริสตกาลประมาณ 5,000 ปี มนุษย์ในแถบอารายธรรมเมโสโปเตเมียเริ่มรู้จักการใช้ ของแข็งกดลงบนดินเพื่อให้เกิดเป็นลวดลายและตัวอักษร จนกระทั่งถึงอารยะธรรมกรีกโบราณที่แสนรุ่งโรจน์ใช้วิธีเขียนหนังสือบนแผ่นไม้ ที่ทำจากต้นบีช (Beech) หรือที่เรียกกันในภาษาแองโกล-แซกซอนเรียกว่า BOC จนเป็นที่มาของคำว่าBookในปัจจุบัน ในขณะที่อีกฟากของอารยะธรรมอย่างในดินแดนตะวันออก ผู้นำอารยะธรรมอย่างจีน ก็เริ่มมีการบันทึกตัวอักษรลงบนแผ่นไม้ และใบลานตั้งแต่ก่อนคริสตกาลประมาณ 1,300 ปี

หลังจากนั้นมนุษย์มีวิวัฒนาการที่นำหนังสัตว์มาใช้แทนกระดาษ โดยผ่านการฟอกและขัดจนเรียบใช้ทำเป็นม้วนบันทึกเรื่องราวต่างๆลงบนแผ่นหนังจนกระทั่ง ในพ.ศ.648( ค.ศ. 105) ชาวจีนชื่อ ไซลัน (Silan) ได้คิดค้นวิธีทำกระดาษจนกระดาษได้กลายเป็นวัสดุสำคัญที่ใช้ในการบันทึกเรื่องราวต่างๆอย่างเช่นในปัจจุบัน ในบรรพกาลปราชญ์ชาวจีนคิดค้นสิ่งต่างๆที่มีประโยชน์ได้ ก่อนชาวยุโรปมามกมายหลายสิ่งแต่ขาดการพัฒนาการที่ต่อเนื่องทำให้ล้าหลังและองค์ความรู้ไม่ได้ต่อยอดเท่าทีควร เช่น การที่จีนรู้จักคิดค้นดินประสิวก่อนชาติใดในโลก การสร้างเรือสำเภา กระดาษอันเป็นวัสดุจำเป็นที่ใช้ในการบันทึกสิ่งต่างๆก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่ปราชญ์ชาวที่จีนได้คิดค้นขึ้น แต่ขาดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม

จนกระทั่งการใช้กระดาษเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ในยุโรปเองก็ต้องการบันทึกความรู้และเรื่องราวต่างๆมากขึ้นจนในราวคริตศตวรรษที่ 15 โจฮัน กูเต็นเบิร์ก ได้พัฒนาแม่แบบสำหรับหล่อตัวพิมพ์โลหะเป็นตัว ๆ ซึ่งนำมาเรียงต่อกันได้เป็นประโยคและสามารถพัฒนาเป็นเครื่องพิมพ์ได้จนสำเร็จทำให้การพิมพ์ย่างก้าวเข้าสู่ยุคการพิมพ์ซึ่งถือว่าเป็นการปฎิวัติครั้งสำคัญของวงการการพิมพ์ ผลงานอันมีชื่อเสียงของกูเต็นเบิร์ก คือ คัมภีร์ 42 บรรทัด (42 - Line Bible) ที่ได้จัดพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. 1998 (ค.ศ. 1455)

nn

คลังบทความของเทคโนโลยีการพิมพ์