Custom Search
Latest Article Get our latest posts by subscribing this site

หน้าที่ของน้ำยาฟาวเทน พอสังเกตุ


                      น้ำยาฟาวเทนเป็นสารละลายชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยตัวถูกละลายหลายชนิดโดยมีน้ำเป็นตัวทำละลาย น้ำและตัวถูกละลายเหล่านี้จะทำหน้าที่ต่างๆ กัน แต่โดนปกติแล้วจะทำให้น้ำยาฟาวเทนเคลือบได้ดีบริเวณไร้ภาพ กล่าวคือจะเคลือบในลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ อย่างถึง แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่เคลือบบริเวณภาพ 
  น้ำยาฟาวเทนมีชื่อเรียกได้หลายชื่อด้วยกัน ได้แก่ น้ำยาฟาวเทน (fountain Solution ) หรือน้ำยาที่ทำให้ชื้น(dampening solution) การทำให้ชื้น (dampening  หรือ dumping)หมายถึง การให้ความชื้นหรือน้ำแก่แม่พิมพ์
                     น้ำยาฟาวเทนมีจำหน่ายกันทั่วไปเป็นน้ำยาฟาวเทนเข้มข้น หรือในท้องตลาดเรียกกันโดยทั่วไปว่า"หัวน้ำยาฟาวเทน"หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "หัวน้ำยา" เวลาช่างพิมพ์นำไปใช้ในการพิมพ์ ต้องนำหัวน้ำยาฟาวเทนนี้มาทำให้เจือจางเสียก่อน โดยการตวงแล้วเติมน้ำยาตามสัดส่วนและคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต ทั้งนี้ปริมาณหัวน้ำยาฟาวเทนที่ใช้ไม่มีการกำหนดตายตัว โดยทั่วไปต้องคำนึงถึงคุณสมบัติและคุณภาพของน้ำที่จะนำมาใช้เจือจางด้วย ทั้งนี้เพราะน้ำแต่ละท้องถิ่นก็จะมีคุณสมบัติและคุณภาพแตกต่างกันไป น้ำยาฟาวเทนที่เติมน้ำและทำให้เจือจางแล้วเป็นน้ำยาฟาวเทนที่พร้อมจะใช้เพื่อทำการพิมพ์

แม่พิมพ์เฟล็กโซกราฟียางธรรมชาติ

        แม่พิมพ์เฟล็กโซกราฟียางธรรมชาตินี้เป็นแม่พิมพ์ที่ทำมาจากยางธรรมชาติ  มีลักษณะโครงสร้างของแม่พิมพ์ประกอบด้วยผืนผ้าใบเป็นฐานรองรับชั้นยาง  ชั้นยางนั้นมีส่วนผสมหลักเป็นยางธรรมชาติและยางบิวนาเอ็น อาจผสมด้วยสารประกอบตามแต่ผู้ผลิต  สารประกอบอื่นได้แก่ ยางบิวทิล( butyl ) สไตรีน ( styrene ) เอทิลีน ( ethylene ) โพรพิลีน ( propylene ) นีโอพรีน ( neoprene ) หรือส่วนผสมระหว่างยางบิวนาเอ็นกับไวนิล ( Buna N/vinyl elastomer )

         แม่พิมพ์ที่ทำจากยางพารานี้ มีความหนาที่ทำส่วนใหญ่ประมาณ 6 - 7 มิลลิเมตร แม่พิมพ์ธรรมชาติมักมีปัญหาเรื่องการยืดหยุ่นและความเรียบไม่สม่ำเสมอตลอดแผ่น จึงทำให้คุณภาพงานพิมพ์ที่ออกมาไม่สวยงามเท่าที่ควร

         ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการทำแม่พิมพ์ยางธรรมชาติ คือ การขึ้นรูปที่ดี การทนต่อการขีดขูดได้ ความทรงรูปภาพหลังการเก็บ คุณสมบัติในการโค้งงอ การยืดหดและยืดหยุ่นได้ นอกจากนี้แม่พิมพ์ยางธรรมชาติจะมีการเติมสารเพื่อปรับความแข็งของยางให้เหมาะสมเพื่อทนต่อการฉีกขาด คุณสมบัติที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การทนต่อก๊าซโอโซน เนื่องจากเวลานำไปใช้งานเพื่อพิมพ์พลาสติก โรงงานจะมีการฉีดพลาสติกซึ่งจะเกิดก๊าซโอโซน ก๊าซโอโซนจะทำให้ยางแตก เป็นผลทำให้พิมพ์ไม่ได้

โครงสร้างพื้นฐานและวัสดุที่ใช้ทำแม่พิมพ์เฟล็กโซกราฟี

   แม่พิมพ์เฟล็กโซกราฟีเป็นแม่พิมพ์พื้นนูนซึ่งบริเวณภาพสูงกว่าบริเวณไร้ภาพ  สมัยเริ่มแรกถ้าพูดถึงแม่พิมพ์นี้ทุกคนจะรู้จักในลักษณะของยางธรรมชาติ ซึ่งได้รับการแกะหรือหล่อ ลักษณะการทำแม่พิมพ์แบบเก่านี้ต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาคุณภาพของสิ่งพิมพ์ให้ดีขึ้น ดังนั้นแม่พิมพ์ระบบนี้ก็ได้รับการพัฒนาตามด้วยจนมาเป็นแม่พิมพ์พอลิเมอร์ ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ที่มีการผสมสารไวแสงลงไป เมื่อมีการฉายแสงรังสีอัลตราไวโอเลตผ่านฟิล์มเนกาทิฟลงบนแม่พิมพ์พอลิเมอร์ไวแสงแล้วนำไปล้างในน้ำยาสร้างภาพจะได้ภาพที่ต้องการ แม่พิมพ์พอลิเมอร์สามารถให้ภาพพิมพ์ที่ละเอียดได้
       
               แม่พิมพ์พอลิเมอร์ส่วนใหญ่เป็นชนิดแผ่นสำเร็จ ขนาดของแม่พิมพ์พอลิเมอร์ไวแสงสามารถทำได้ขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับแม่พิมพ์ยางธรรมขาติ ซึ่งมีขนาดประมาณ 40 x 40 ตารางนิ้ว แม่พิมพ์พอลิเมอร์สามารถทำได้ถึง 80 x 42 ตารางนิ้ว โดยใช้เครื่องทำแม่พิมพ์ที่มีการควบคุมเป็นอย่างดี

แม่พิมพ์ออฟเซตชนิดสำเร็จ

   แม่พิมพ์ออฟเซตชนิดสำเร็จ ( Presensitized plate )
หรือที่เรียกกันว่า "เพลตสำเร็จ"หมายถึงแม่พิมพ์ที่ได้เคลือบน้ำยาไวแสงไว้บนโลหะเรียบร้อยแล้วพร้อมใช้งานได้ทันที ปัจจัยเป็นแม่พิมพ์ออฟเซตที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เพราะมีข้อดีหลายประการ เช่น ราคา พิมพ์งานได้จำนวนมาก ใช้งานง่าย ให้งานที่มีคุณภาพสูง
 
    โครงสร้างแม่พิมพ์ออฟเซตชนิดมีดครงสร้างที่่สำคัญ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นชั้นไวแสง( photosensitive Layer ) และส่วนที่เป็นฐานรองรับ ( Support )


  1. ชั้นไวแสง แม่พิมพ์ออฟเซตชนิดสำเร็จมีชั้นไวแสง 2 ชนิด คือ ชั้นไวแสงสำหรับแม่พิมพ์พอซิทิฟและชั้นไวแสงสำหรับแม่พิมพ์เนกาทีฟ  โดยที่ชั้นไวแสงทั้ง 2 ชนิดนั้นประกอบด้วยสารประกอบชนิดไดอะโซพอลิเมอร์ และเรซิ่น เป็นหลักเช่นเดียวกันแต่แตกต่างกันเรื่องปฏิกิริยาที่มีต่อรังสีอัลตราไวโอเลต กล่าวคือ แม่พิมพ์พอซิทีฟเมื่อสารไวแสงได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตแล้ว สารไวแสงที่ถูกแสงจะอ่อนตัว สามารถสังเกตได้ คือ สีซีดจางหรือเปลี่ยนไป และละลายออกด้วยน้ำยาสร้างภาพที่ใช้สำหรับแม่พิมพ์พอซิทีฟ ดังนั้นส่วนที่ไม่ถูกแสงหรือส่วนที่เป็นบริเวณภาพจะยังคงอยู่บนผิวหน้าแม่พิมพ์   สำหรับแม่พิมพ์เนกาทีฟ เมื่อสารไวแสงได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต สารไวแสงที่ถูกแสงจะแข็งตัวสังเกตได้ คือ สีเข้มขึ้นหรือเปลียนไป แต่ส่วนที่ไม่ถูกแสงจะละลายออกได้ในน้ำยาสร้างภาพที่ใช้สำหรับแม่พิมพ์เนกาทิฟ ดังนั้นส่วนที่ถูกแสงหรือส่วนที่เป็นบริเวณภาพจะยังคงอยู่บนผิวหน้าแม่พิมพ์
  2. ฐานรองรับ สำหรับแม่พิมพ์ออฟเซตชนิดสำเร็จ ในปัจจุบันจะใช้อลูมิเนียม เนื่องจากคุณสมบัติเฉพาะตัวของอลูมิเนียมในด้านการรับน้ำได้ดี ทำให้การควบคุมการจ่ายน้ำง่ายขึ้น ในด้านความโค้งงอของอลูมิเนียมทำให้ง่ายต่อการนำแม่พิมพ์ม้วนรอบโม และในด้านความเนื้อของอลูมิเนียมที่ไม่ทำให้แม่พิมพ์ฉีดขาดง่าย รวมถึงราคาต้นทุนในการทำต่างๆ เหล่านี้เป็นเหตุผลที่อลูมิเนียมเป็นที่นิยมใช้เป็นฐานรองรับสำหรับแม่พิมพ์ออฟเซตชนิดสำเร็จ

แม่พิมพ์ออฟเซตชนิดกึ่งสำเร็จ

   แม่พิมพ์ออฟเซตชนิดกึ่งสำเร็จ ( Wipe on plate ) เป็นแม่พิมพ์ที่อยู่ระหว่างแม่พิมพ์สำเร็จและแม่พิมพ์ทำเอง มีลักษณะโครงสร้างเหมือนแม่พิมพ์โลหะแต่มีสารไวแสงเคลือบอยู่ โดยผู่ใช้ต้องทำการเคลือบสารไวแสงบนผิวหน้าแม่พิมพ์เอง ประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลามากกว่าแม่พิมพ์โลหะ สารไวแสงที่ใช้คล้ายแม่พิมพ์ชนิดสำเร็จ ผู้ใช้ต้องทำการผสมและเคลือบเอง โดยอาจใช้ฟองน้ำปาดไปทางเดียวหรือเคลือบด้วยแท่นหมุนแล้วทำให้แห้งด้วยพัดลม

แม่พิมพ์ออฟเซตชนิดโลหะ

              แม่พิมพ์ออฟเซตชนิดโลหะ ( Metal Plate ) เป็นแม่พิมพ์ที่มีการใช้โลหะ 2 หรือ 3 ชนิด เคลือบชั้นกันเป็นชั้นๆ โดยวิธีการเคลือบโลหะ โดยโลหะที่ใช้มีคุณสมบัติแตกต่างกันด้านการรับหมึกและการรับน้ำ เพื่อมาแบ่งบริเวณภาพและบริเวณไร้ภาพออกจากกัน
             
              ตัวอย่างโลหะที่รับหมึกพิมพ์ไำด้ดี  ทำหน้าที่เป็นบริเวณภาพ ได้แก่ สังกะสี ทองแดง ทองเหลือง และเงิน
              ตัวอย่างโลหะที่รับน้ำได้ดี  ทำหน้าที่เป็นบริเวณไร้ภาพ ได้แก่ อลูมิเนียม โครเมียม และนิกเกิล
จากโครงสร้างของแม่พิมพ์ออฟเซตที่ใช้โลหะ 3 ชนิด ในการผลิตแม่พิมพ์โลหะแต่ละชนิดมีหน้าที่แตกต่างกันโดยโครเมียมทำหน้าเป็นส่วนรับน้ำหรือเป็นบริเวณไร้ภาพ ส่วนทองแดงทำหน้าที่เป็นส่วนที่รับหมึกหรือบริเวณภาพ และอลูมิเนียมทำหน้าที่เป็นฐานรองรับเพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงให้แก้แม่พิมพ์
             เนื่องจากบริเวณภาพเป็นโลหะ ทำให้แม่พิมพ์ชนิดนี้ใช้งานได้นาน แม่พิมพ์ชนิดนี้มีการผลิตคล้ายแม่พิมพ์พื้นลึก 

โครงสร้างพื้นฐานและวัสดุที่ใช้ทำแม่พิมพ์พื้นราบ

     เนื่องจากแม่พิมพ์พื้นราบที่มีในที่นี้ คือ แม่พิมพ์ออฟเซต  ใช้หลักการของการไม่รวมตัวกันระหว่างน้ำกับน้ำมัน และแม่พิมพ์มีบริเวณภาพและบริเวณไร้ภาพที่อยู่ในระดับเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานและวัสดุที่ใช้ทำแม่พิมพ์ออฟเซตสามารถแบ่งได้ตามที่ใช้กันในอุตสาหกรรมการพิมพ์ 3 ประิเภท ดังนี้

  1. แม่พิมพ์ออฟเซตชนิดโลหะ(Matel plate)
  2. แม่พิมพ์ออฟเซตชนิดกึ่งสำเร็จ ( Wipe on plate )
  3. แม่พิมพ์ออฟเซตชนิดสำเร็จ ( Presensitized plate )

การแห้งตัวของหมึกพิมพ์เหลว

   การแห้งตัวของหมึกพิมพ์แตกต่างกันตามระบบการพิมพ์และวัสดุพิมพ์ หมึกพิมพ์ในระบบการพิมพ์แบบเฟล็กโซกราฟีและกราวัวร์ มีการแห้งตัวแบบระเหยของตัวทำละลาย เพื่อให้เกิดการสร้างชั้นฟิล์มของหมึกบนวัสดุพิมพ์ โดยทั่วไปตัวทำละลายในหมึกพิมพ์เป็นตัวกำหนดอัตราการแห้งตัวเพื่อให้สอดคล้องกับความเร็วในการพิมพ์
   
      หมึกพิมพ์ระบบเฟล็กโซกราฟีและกราวัวร์ เป็นหมึกพิมพ์ที่ใช้ตัวทำละลายระเหยเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับวัสดุพิมพ์ที่เป็นพลาสติกเป็นส่วนใหญ่ และเพื่อให้สอดคล้องกับความเร็วในการพิมพ์ หากหมึกพิมพ์มีอัตราการแห้งตัวช้าจะส่งผลต่อการเกิดปัญหาต่างๆ ได้แก่ ความล้มเหลวในการพิมพ์สีต่อเนื่อง มีการสะสมของตัวทำละลาย หรือมีการตกค้างของตัวทำละลายในวัสดุพิมพ์ และเกิดปัญหาการติดกันของวัสดุพิมพ์ในม้วน
   
      ในทางตรงกันข้ามหมึกพิมพ์มีอัตราการแห้งตัวเร็วเกินไป จะส่งผลต่อการเกิดปัญหาเช่นกัน ได้แก่ การพิมพ์ภาพฮาล์ฟโทนขาดความสวยงาม และมีการตกค้างของตัวทำละลายในวัสดุพิมพ์สูง เนื่องจากเรซิ่นมีการเซตตัวหรือมาดตัวสร้างชั้นฟิล์มขึ้นบนวัสดุพิมพ์ก่อนที่ตัวทำละลายในหมึกพิมพ์จะระเหยออกไป
 
         ความเร็วในการแห้งตัวของหมึกพิมพ์สัมพันธ์โดยตรงกับปัจจัยหลัก 3 อย่าง

  1. ชนิดของตัวทำละลาย ตัวทำละลายที่มีอัตราการระเหยตัวสูงจะให้อัตราความเร็วในการแห้งตัวสูง
  2. ชนิดของเรซิ่น การเลือกใช้เรศิ่นและตัวทำละลายที่เหมาะสมรวมทั้งความสามารถในการสร้างชั้นฟิล์มของเรซิ่น ล้วนมีผลต่อการแห้งตัวของหมึกพิมพ์
  3. ชนิดของวัสดุพิมพ์ การพิมพ์บนวัสดุพิมพ์ที่มีรูพรุน เช่น กระดาษ ย่อมให้ความเร้วในการแห้งตัวเร็วกว่าการพิมพ์บนวัสดุพิมพ์ที่มีผิวเรียบ เช่น พลาสติก

เรซิ่นในหมึกพิมพ์กราวัวร์

   การเลือกใช้เรซิ่นในหมึกพิมพ์กราวัวร์ควรสอดคล้องกับปัจจัยต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้วเช่นกัน เนื่องจากแม่พิมพ์ในระบบกราวัวร์เป็นแม่พิมพ์โลหะที่มีความทนทานต่อตัวทำละลายประเภทอะโรมาติกไฮโดคาร์บอน  ดังนั้นจึงไม่มีข้อจำกัดในการเลือกใช้เรซิ่น สิ่งสำคัญ คือ เรซิ่นแต่ละชนิดนั้น ควรมีสมบัติต่างๆตามปัจจัยที่ได้กล่าวมาแล้วโดยรวมการเลือกใช้เรซิ่นในหมึกพิมพ์กราวัวร์จะต้องสอดคล้องกับเรซิ่นที่ใช้กับหมึกพิมพ์เฟล็กโซกราฟี

เรซิ่นในหมึกพิมพ์เฟล็กโซกราฟี

  การเลือกใช้หมึกพิมพ์เฟล็กโซกราฟีควรสอดคล้องกับปัจจัยต่างๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลือกใช้เรซิ่นสำหรับหมึกพิมพ์เฟล็กโซกราฟี  คือ การเลือกเรซิ่นที่มีสมบัติการละลายในตัวทำละลายที่ไม่มีผลต่อการทำลายแม่พิมพ์ยาง โดยปกติแล้วแม่พิมพ์ยางในระบบการพิมพ์ในระบบการพิมพ์เฟล็กโซกราฟี 2 ประเภท คือ แม่พิมพ์ยางธรรมชาติและแม่พิมพ์ยางสังเคราะห์ แม่พิมพ์ยางทั้ง 2 ประเภท มีสมบัติต้านทานต่อตัวทำละลาย แตกต่างกัน แต่โดยรวมแม่พิมพ์ทั้ง2 ประเภท ไม่ทนต่อตัวทำละลายประเภทอะโรมาติก ซึ่งเป็นตัวทำละลายที่มีหมู่วงแหวนเบนซินอยู่ในโครงสร้างทางเคมี ตัวทำละลายประเภทนี้ เช่น ด?ลูอีน ตัวทำละลายที่ใช้กับหมึกพิมพ์เฟล็กโซกราฟีควรเป็นตัวทำละลายประเภทแอลกอฮอล์ และเอสเทอร์ เท่านั้น

  ในการเลือกเรซิ่่นสำหรับหมึกพิมพ์เฟล็กโซกราฟีนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ เรซิ่นต้องละลายในตัวทำลายประเภทที่กล่าวมาแล้ว ให้สมบัติกับการยึดติดกับวัสดุพิมพ์ มีสมบัติการเปียกกับผงสีได้ เป็นเรซิ่นที่มีการสร้างชั้นฟิล์มอย่างรวดเร็ว มีกลิ่นน้อย ให้ค่าตกค้างของตัวทำละลายต่ำ และควรมีสมบัติเข้ากันได้ดีกันเรซิ่นร่วมชนิดอื่นๆ โดยทั่วไปเรซิ่นแต่ละชนิดจะให้สมบัติตามปัจจัยที่ระบุมาไม่ครบถ้วน  จึงทำให้มีการใช้เรซิ่นหลายชนิดในการผลิตหมึกพิมพ์ชนิดหนึ่ง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้พิมพ์ด้วย การใช้เรซิ่นหลายๆชนิดในหมึกพิมพ์ชนิดหนึ่งๆ อาจก่อให้เกิดปัญหาการไม่รวมตัวกันหรือเข้ากันไม่ได้ระหว่างเรซิ่นแต่ละชนิด นอกจากนี้การเลือกใช้ตัวทำละลายที่ไม่เหมาะสมก็จะมีผลต่อสมบัติของหมึกพิมพ์ด้วย ดังนัน้ควรคำนึงถึงทั้งการเข้ากันได้ของเรซิ่นที่ใช้ กับการเลือกใช้ตัวทำละลายที่เหมาะสมในการผลิตหมึกพิมพ์

ปัจจัยทั่วไปในการเลือกเรซิ่น ในงานพิมพ์

  ปัจจัยการเลือกเรซิ่นในหมึกพิมพ์เหลวขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการได้แก่

  1. การสร้างฟิล์มของเรซิ่น  ความแข็ง กลิ่น สี ความโปร่ง ความทึบ และการละลายในตัวทำละลายที่ต้องการ
  2. สมบัติการเปียก กับผงสีที่เลือกใช้เำพื่อให้เกิดการกระจายตัวของผงสีดี และมีความเสถียร
  3. ความหนืด ของวานิชที่ทำจากเรซิ่นควรเพิ่มตามความหนืดของเรซิ่นที่สูงขึ้น
  4. เรซิ่นที่ดีควรมีสมบัติการสร้างชั้นฟิล์มที่รวดเร็วและให้ฟิล์มที่บางเมื่อสัมผัสกับอากาศหรือความร้อน
  5. เรซิ่นที่ดีควรมีสมบัติการยึดติดกับวัสดุพิิมพ์
  6. บนวัสดุพิมพ์ประเภทกระดาษ  เรซิ่นที่เลือกควรมีการสร้างชั้นฟิล์มที่รวดเร็ว ไม่ควรซึมไปในเนื้อกระดาษมาก เพื่อรักษาความเงาบนผิวกระดาษสูงสุด
  7. เรซิ่นไม่ควรทำปฏิกิริยากับองค์ประกอบอื่นในหมึกพิมพ์ อันก่อให้เกิดปฏิกิริยาการเกิดเจลซึ่งทำให้หมึกเสียสภาพ

ประเภทและลักษณะทั่วไปของเรซิ่น

   เรซิ่นเป็นสารประกอบอินทรีย์เชิงซ้อนของโมเรกุลขนาดใหญ่  มีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และการสังเคราะห์ทางเคมี  เรซิ่นในธรรมชาติ เช่น โรซิน กัม  เรซิ่นสังเคราะห์เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีโดยปฏิกิริยาการเกิดพอลิเมอร์ (Polymerization) ของโมเรกุลขนาดเล็ก เรซิ่นสังเคราะห์ เช่น  พอลิเอไมด์ พอลิไวนิล สมบัติทางกายภาพของเรซิ่นสังเคราะห์จะมีความสัมพัธ์กับโครงสร้างทางเคมีและองค์ประกอบของเรซิ่นชนิดนั้นๆ สมบัติของเรซิ่นสังเคราะห์จะแตกต่างจากเรซิ่นธรรมชาติ ดังตาารงต่อไปนี้

ตารางการเปรียบเทียบลักษณะทั่วไประหว่างเรซิ่นธรรมชาติและเรซิ่นสังเคราะห์

เรซิ่นในหมึกพิมพ์เหลว

    เรซิ่นเป็นองค์ประกอบที่มีหน้าที่หลักในการสร้างชั้นฟิล์มของหมึกให้ยึดติตกับวัสดุพิมพ์  ส่วนหน้าที่รอง คือ การให้ความเงา และการทำให้ฟิล์มของหมึกพิมพ์มีความแข็งแรง  การเลือกเรซิ่นในหมึกพิมพ์ขึ้นอยู่กับชนิดของหมึกพิมพ์ที่ต้องการ ระบบการพิมพ์ การนำไปใช้งาน และสมบัติเฉพาะตัวของเรซิ่น

ข้อควรคำนึงถึงในการเลือกใช้ผงสีและสีย้อม

        ในหมึกพิมพ์เหลวทั้งเฟล็กโซกราฟีและกราวัวร์  จะมีการเลือกใช้ผลสีที่ต่างกัน  โดยอาศัยปัจจัยหลัก 3 ประการ เป็นตัวกำหนด คือ

  1. การกระจายตัวของผงสี  ที่อยู่ในวานิชแต่ละชนิด  จะมีผลต่อการไหลของหมึกพิมพ์  ในทางทฤษฏีหมึกพิมพ์เหลวที่ดีต้องมีการไหลใกล้เคียงกับน้ำ  ซึ่งมีลักษณะการไหลที่เรียกว่าแบบนิโทเนียน (newtonian flow) ซึ่งเป็นการไหลที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงถึงแม้จะมีแรงกระทำมากหรือน้อย
  2. ความเสถียรของหมึกพิมพ์  การกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอของผลสี  ทำให้ผงสีที่อยู่ในวานิช มีเสถียรภาพการไหลของหมึกพิมพ์ในขณะผลิต  ขณะพิมพ์ และขณะเก็บที่ดีไม่เปลี่ยนแปลง
  3. ความต้องการในการนำไปใช้งานขั้นสุดท้าย กล่าวคือ การเลือกใช้ผงสีต้องให้สอดคล้องกับการนำไปใช้งานครั้งสุดท้าย  เช่น งานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ประเภทสบู่  แชมพูสระผม สิ่งที่จำเป็นของการเลือกใช้ผงสีเหล่านี้  คือ การเลือกสมบัติที่มีความต้านทานต่อด่างและต้านทานสารเคมีในสบู่
การเลือกใช้หมึกพิมพ์เฟล็กโซกราฟี  และหมึกพิมพ์กราวัวร์ต้องสอดคล้องกับปัจจัยดังกล่าวขั้นต้น  คือ คำนึงถึงการกระจายตัวของผงสี ความเสถียรของหมึกพิมพ์  และความต้องการนำไปใช้งานขั้นสุดท้าย

ดัชนีของผงสีและสีย้อม

  ดัชนีสี (Colour Index หรือ CI) เป็นค่ามาตรฐานในการแยกระดับสีต่างๆ ของทั้งผงสีและสีย้อม ผู้ผลิืตหมึกต้องรู้จักและเข้าใจความหมายเป็นอย่างดี  โดยปกติจะกำหนดเป็นตัวย่อของสีภาษาอังกฤษ  เช่น สีแดง (red) ใช้ตัวย่อว่า R  แล้วตามด้วยค่าตัวเลข ตั้งแต่ 1 ถึงหลักร้อย ค่าตัวเลขต่างๆ เป็นค่าตัวเลขตามประเภทของผงสีและสีย้อมที่ใช้ต่างๆกัน
            ค่า CI ของสีที่ใข้เป็นมาตรฐานในการผลิตหมึกพิมพ์เหลวทั่วไป มีดังนี้

  • สีแดง    R-48  R-52  R-57 
  • สีส้ม      O-13  O-19
  • สีเหลือง  Y-1  Y-12  Y-13  Y-83
  • สีเขียว   G-7
  • สีน้ำเงิน  B-1  B-15
  • สีม่วง  V-3  V-23  V-27
  • สีขาว  Wt-6
  • สีดำ  Bk-7
     นอกจากยังมีตัวเลขดัชนีสี (colour index number หรือ CI No.) ของผงสีและสีย้อม ซึ่งเป็นตัวเลข 5 หลัก เช่น CI No.45380 ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่มีกำหนดไว้เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบถึงการผลิตและที่มาของหมึกนั้นๆ  ซึ่งจะไม่ของกล่าวในรายละเอียดในที่นี้  เนื่องจากผู้ใช้ส่วนใหญ่จะนิยมระบุดัชนีสีหรือ CI ซึ่งจะจำได้ง่ายกว่า

nn

คลังบทความของเทคโนโลยีการพิมพ์