Custom Search

ความหมายและประวัติการพิมพ์

การพิมพ์เป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ที่เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะสื่อสารกันระหว่างมนุษย์ ต้องการที่จะถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ มนุษย์จึงได้คิดตัวอักษรและเครื่องมือที่จะบันทึกตัวอักษร มนุษย์ได้ใช้ตัวอักษรเป็นสื่อถ่ายทอดความรู้สึก ความนึกคิด ความรู้และประสบการณ์ไปสู่ผู้อื่น มนุษย์ยังคงไม่หยุดแค่นั้นยังหาวิธีที่จะทำให้คนกลุ่มมากได้รับทราบสารต่าง ๆ ที่ต้องการจะถ่ายทอด โดยถ่ายทอดได้ครั้งละมาก ๆ หลาย ๆ สำเนาและไม่เสียเวลามาก โดยจำลองออกมาจากต้นฉบับ มนุษย์ได้เริ่มเรียนรู้วิธีการแกะสลักเป็นสิ่งแรก แล้วนำไปประทับจะทำให้เกิดสำเนาที่เหมือนกับต้นฉบับขึ้น
ความหมายของการพิมพ์
คำว่า การพิมพ์ มีผู้ให้ความหมายไว้หลายความหมายด้วยกัน เช่น มิล (Mills) ได้ให้ความหมายว่า การพิมพ์ คือกรรมวิธีใด ๆ ในการจำลองภาพหรือสำเนาภาพหรือหนังสือ จากต้นฉบับ ในลักษณะ 2 มิติ แบนราบ ทั้งนี้รวมถึงการพิมพ์ผ้า การพิมพ์กระดาษปิดฝาผนังและการอัดรูป ลีเชอร์ (Lechene) ได้ให้ความหมายว่า กลวิธีการใช้แรงกดให้หมึกติดเป็นข้อความหรือภาพ บนพื้นผิวของสิ่งที่ต้องการจะพิมพ์ พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 ได้ให้ความหมายว่า การทำให้เป็นตัวหนังสือหรือรูปรอยใดๆ โดยการกดหรือการใช้พิมพ์หิน เครื่องกล วิธีเคมี หรือวิธีอื่นใดอันอาจให้เกิดเป็นสิ่งพิมพ์ขึ้นหลายสำเนา กำธร สถิรกุล ได้ให้ความหมายว่า การพิมพ์ คือการจำลองต้นฉบับอันหนึ่งจะเป็นภาพหรือตัวหนังสือก็ตาม ออกเป็นจำนวนมาก ๆ เหมือนกัน บนวัสดุที่เป็นพื้นแบน หรือใกล้เคียงกับพื้นแบน ด้วยการใช้เครื่องมือกล ตามความหมายโดยรวมของคำจำกัดความขั้นต้น จะเห็นว่า การพิมพ์จะมุ่งเน้นที่จะจำลองต้นฉบับให้เกิดสำเนาขึ้นหลาย ๆ สำเนา ในปัจจุบันการพิมพ์สามารถพิมพ์ลงบนวัสดุได้หลาย ๆ ประเภท เช่น กระดาษ ผ้า พีวีซี ไม้ หนัง ฯลฯ และยังสามารถพิมพ์บนวัสดุ ที่ไม่แบนราบได้ ไม่ว่าจะเป็นทรงกลมอย่างลูกบอล ผิวบอบบางอย่างไข่ หรือแม้แต่ผิวขรุขระอย่างลูกกอล์ฟ ก็สามารถพิมพ์ได้ นอกจากนี้การพิมพ์บางระบบยังไม่จำเป็นต้องใช้แรงกดในการทำให้เกิดภาพอีกด้วย



1. ประวัติการพิมพ์ของโลกตะวันออกโลกตะวันออก
หมายถึง ดินแดนทวีปเอเซียตะวันออก อันได้แก่ ประเทศจีนประเทศเกาหลี ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ เมื่อราว ปี พ.ศ. 288 ชาวจีนเป็นชาติแรกที่คิดค้นการพิมพ์ได้สำเร็จ โดยใช้การแกะสลักบนแผ่นหิน กระดูกสัตว์ และงาช้าง สำหรับใช้ประทับลงบนดินเหนียวหรือขี้ผึ้ง เนื่องจากในขณะนั้นมนุษย์ยังไม่รู้จักกระดาษและหมึก การแกะสลักนั้นต้องแกะเป็นตัวกลับ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรส (letterpress) ปี พ.ศ.648 ชาวจีนชื่อไซลั่น ได้คิดวิธีการทำกระดาษขึ้นจากเยื่อของพืช เช่น เยื่อจากต้นปอ ทำให้กระดาษเป็นวัสดุหลักในการเขียนและพิมพ์ ปี พ.ศ.718 ชาวจีนได้แกะสลักวิชาความรู้ต่าง ๆ ไว้บนแผ่นหิน จึงได้เกิดการจำลองหรือคัดลอกต้นฉบับที่สลักไว้บนแผ่นหิน ด้วยวิธีพิมพ์แบบการลอกรูป (stone rubbing) โดยการใช้กระดาษไปทาบบนแผ่นหิน แล้วใช้ถ่านหรือสีถูทาทำให้เกิดภาพหรือรูปรอยบนแผ่นกระดาษ ปี พ.ศ.943 ชาวจีนรู้จักนำเขม่าไฟมาทำเป็นหมึกดำ เมื่อนำเขม่าไฟมาทำเป็นหมึกแล้ว จึงคิดวิธีที่จะทำหมึกจากเขม่าไฟไว้ใช้ได้ตลอดเวลา โดยนำเอาเขม่าไฟเป็นเนื้อสี (pigment) ใช้กาวที่เคี่ยวจากกระดูกสัตว์ หนังสัตว์ เขาสัตว์ เป็นตัวยึดโดยทำเป็นแท่ง ๆ ซึ่งชาวจีนเรียกว่า บั๊ก เวลาใช้ก็เอาแท่งหมึกแตะน้ำแล้วฝนลงบนแผ่นหิน หมึกก็จะออกมาบนแผ่นหิน แล้วใช้พู่กันจุ่มหมึกและเขียน หมึกแท่งที่คิดได้นี้ยังใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ.1118 จีนได้เริ่มการพิมพ์โดยใช้บล็อกไม้ (wood block printing) http://i28.tinypic.com/e0lxt3.jpgโดยการแกะแม่พิมพ์บนแผ่นไม้ โดยแกะเป็นตัวกลับ ส่วนที่ต้องจะเป็นส่วนที่นูนสูงขึ้นมา เมื่อเอาหมึกคลึงบนแม่พิมพ์ หมึกจะเกาะบนส่วนที่นูนสูงขึ้น เมื่อเอากระดาษวางบนแม่พิมพ์ แล้วใช้แรงกด หมึกจะติดบนกระดาษขึ้นมา

ปี พ.ศ.1411 วางเชียะ (Wang Chieh) ได้พิมพ์หนังสือขึ้นเป็นเล่มแรก (วัลลภ สวัสดิวัลลภ, 2535, หน้า 62) ซึ่งยังคงให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ชื่อ วัชรสูตร (Diamond Sutar) มีลักษณะเป็นม้วนยาว 16 ฟุต กว้าง 1 ฟุต พบในผนังถ้ำทุนวาง (Tunhuang) ของจีน ในหนังสือมีระบุว่าพิมพ์เมื่อ 16 พฤษภาคม พ.ศ.1411 ปี พ.ศ.1584-1592 ชาวจีนชื่อไป่เช็ง (Pi Sheng) คิดวิธีที่จะนำแม่พิมพ์ที่ใช้แล้วนำกลับมาเรียงใช้ได้อีก จึงทดลองเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นแท่งแล้วแกะเป็นตัวอักษรนูนตัวกลับ แล้วนำไปตากให้แห้งก่อนเผาไฟ แล้วเก็บไว้เป็นช่อง ๆ ในช่องหนึ่งช่องจะมีอักษรเดียวกัน หลาย ๆ ตัว เมื่อต้องการจะใช้ตัวใดก็นำมาเรียงต่อกัน เมื่อใช้เสร็จก็นำเก็บไว้ยังช่องเดิม เพื่อสามารถนำมาใช้ใหม่ได้อีก วิธีการนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียงพิมพ์

ปี พ.ศ.1933 ชาวเกาหลี เป็นชาติแรกที่คิดหล่อตัวพิมพ์ด้วยโลหะได้สำเร็จ โดยเบ้าหลอมทำด้วยดินทราย ตัวพิมพ์หล่อด้วยโลหะทองบรอนซ์ (โลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก) ซึ่งตัวเรียงโลหะนี้ยังใช้กันจนถึงปัจจุบัน แต่เปลี่ยนส่วนผสมของโลหะไปเป็นพลวง ตะกั่ว และดีบุก นับเป็นการพิมพ์แบบตัวเรียงด้วยโลหะเป็นครั้งแรก การหล่อตัวพิมพ์ได้แพร่หลายเข้าไป ประเทศจีนและญี่ปุ่น
ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการทางการพิมพ์ของโลก ตะวันออก โดยมีชาติจีนเป็นชาติแรกที่บุกเบิกศาสตร์แขนงนี้เป็นสำคัญ

2. ประวัติการพิมพ์ของโลกตะวันตก
โลกตะวันตก หมายถึง ดินแดนทวีปยุโรป อันได้แก่ ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ ยุโรปรู้จักการพิมพ์ครั้งแรกในราวปี พ.ศ.1963 โดยใช้การพิมพ์ด้วยบล็อกไม้เป็นระบบแรก
http://www.gerard-jwatt.net/JohannGutenberg.jpg
ปี พ.ศ.1993 ชาวเยอรมันชื่อ โจฮัน กูเตนเบิร์ก (Johann Gutenberg) ชาวเมืองไมนซ์ (Mainz) ประเทศเยอรมนี เป็นบุคคลแรกของชาวตะวันตก ได้คิดวิธีการพิมพ์ โดยเรียงตัวด้วยโลหะ โลหะที่ใช้เป็นส่วนผสมระหว่าง ดีบุก 5% พลวง 12% และตะกั่ว 83% นอกจากคิดตัวเรียงแล้วกูเตนเบิร์ก ยังเป็นคนที่คิดออกแบบตัวพิมพ์ การแกะสลักแม่พิมพ์ การหล่อตัวพิมพ์ การทำหมึกพิมพ์ และการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ โดยเครื่องพิมพ์ทำด้วยไม้ ดัดแปลงมาจากเครื่องสำหรับคั้นองุ่นเพื่อทำเหล้าองุ่น ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุด และยังปรากฏให้เห็นจนถึงปัจจุบันคือ คัมภีร์ไบเบิ้ล 42 บรรทัด (forty-two line Bible) โดยเริ่มพิมพ์
ในราวปี พ.ศ.1995 ในแต่ละหน้าของคัมภีร์จะมี 42 บรรทัด และมีตัวอักษร 2,800 ตัวต่อหน้า ซึ่งหนังสือ มีความหนาถึง 1,282 หน้า และพิมพ์จำนวนทั้งหมด 200 เล่ม (Adams, 1988, p.2) นับเป็นจุดเริ่มของการพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสในโลกตะวันตก ด้วยความสามารถในหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ กูเตนเบิร์ก จึงได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งการพิมพ์
ปี พ.ศ.2038 อัลเบรค ดูเรอร์ (Albrecht Durer) ศิลปินช่างแกะไม้ชาวเยอรมัน ได้คิดวิธีการพิมพ์โดยใช้แม่พิมพ์ทองแดง (copper plate engraving) โดยใช้ของแหลมขูดขีดให้เป็นรูปรอยร่องลึกบนแผ่นทองแดงและใช้พิมพ์แบบกราวัว ร์ (gravure) นับเป็นครั้งแรกของการใช้แม่พิมพ์พื้นลึก

ปี พ.ศ.2163 วิลเลม จานโซน บลาว (Willem Janszoon Blaeu) ชาวเนเธอร์แลนด์ ได้ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ที่ใช้กับแม่พิมพ์พื้นนูน เราเรียกว่าเครื่องพิมพ์ดัคซ์ (dutch press) เครื่องพิมพ์ทำด้วยโลหะ ใช้วิธีอัดแรงกดกระดาษด้วยการหมุนแขนของแกนกลาง ซึ่งเป็นเกลียวและมีปลายยึดติดกับแผ่นแรงกด เมื่อจะพิมพ์ต้องคลึงหมึกลงบนแม่พิมพ์แล้วนำกระดาษวาง จึงหมุนแขนของแกนให้อัดแผ่นแรงกดกดลงไปบนกระดาษ เมื่อพิมพ์เสร็จก็หมุนแขนขึ้นนำกระดาษออก เมื่อจะพิมพ์แผ่นใหม่ก็ทำเช่นเดิม

ปี พ.ศ.2333 วิลเลียม นิคโคสัน (William Nicholson) ชาวอังกฤษแห่งนครลอนดอน ได้คิดแท่นพิมพ์แบบทรงกระบอก (cylinder press) ขึ้น

ปี พ.ศ.2336 อลัวส์ เซเนเฟลเดอร์ (Alois Senefelder) ชาวเยอรมัน แห่งรัฐบาวาเรีย ได้ค้นพบวิธีพิมพ์หิน (lithography) ซึ่งเป็นวิธีการพิมพ์แบบพื้นราบ (planographic printing) ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งการค้นพบของเซเนเฟลเดอร์ เป็นไปด้วยความบังเอิญ โดยในขณะที่เขากำลังจะจดรายการซักผ้าที่ครอบครัวเขารับจ้างมาซักนั้นไม่มี กระดาษอยู่ใกล้มือ เขาจึงเขียนรายการซักลงบนแผ่นหินด้วยหมึกที่มีส่วนผสมของเขม่าไฟ ขี้ผึ้งและไขมันสบู่ เมื่อจะลบออกจากแผ่นหินเขาไม่สามารถจะลบออกได้ เพราะหมึกได้ฝังตัวอยู่บนเนื้อหิน และเมื่อเอาน้ำทาน้ำก็เกาะบนแผ่นหินแต่ไม่เกาะบนหมึก เพราะหมึกเป็นไขมัน น้ำกับไขมันไม่ผสมกัน ทำให้เซเนเฟลเดอร์เกิดความคิดที่จะใช้แผ่นหินเป็นแม่พิมพ์ โดยทาน้ำก่อนทาหมึก หมึกมีส่วนผสมของน้ำมันและไขมัน ดังนั้นถ้าที่ใดมีน้ำเกาะหมึกก็จะไม่เกาะและในทางตรงกันข้ามที่ใด มีหมึกเกาะก็จะไม่มีน้ำเกาะ เมื่อเอากระดาษมาวางแล้วใช้ แรงกด ๆ ลงไป หมึกที่เกาะอยู่ก็จะติดบนกระดาษ
3. ประวัติการพิมพ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา
หลังจากที่กูเตนเบิร์กได้พัฒนาการพิมพ์ได้แล้วกว่า 180 ปี การพิมพ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้เริ่มขึ้น ในราวปี พ.ศ. 2181

ปี พ.ศ.2356 ยอร์จ อี. ไคลเมอร์ (George E. Clymer) ชาวอเมริกัน แห่งเมือง ฟิลาเดลเฟีย ได้คิดแท่นพิมพ์โคลัมเบียน (columbian press) เป็นเครื่องพิมพ์ระบบคานกระเดื่อง ซึ่งเปลี่ยนจากการหมุน แกนกลางมาเป็นการกดลงด้วยคานแบบเดียวกับที่ใช้ทับกล้วย ซึ่งเบาแรง แต่มีกำลังมากกว่าเครื่องพิมพ์ ชนิดนี้ประดับประดาอย่างสวยงาม โดยเฉพาะจะมี นกอินทรีย์และจระเข้อยู่ด้วย
ปี พ.ศ.2401 ยอร์จ พี. กอร์ดอน (George P. Gordon) ชาวอเมริกัน แห่งเมืองนิวยอร์ค ได้แม่พิมพ์เพลเตน (platen press) ซึ่งส่วนที่ทำการกดพิมพ์จะเป็นแผ่นราบ เวลาพิมพ์แรงกดจะวิ่งเข้าหาแม่พิมพ์ โดยตัวแม่พิมพ์จะอยู่กับที่ ตัวแรงกดจะเป็นที่สำหรับวางกระดาษที่ต้องการจะพิมพ์ ปี พ.ศ.2447 อิรา วอชิงตัน รูเบล (Ira Washington Rubel) ช่างพิมพ์ ชาวอเมริกันได้สังเกตเห็นว่าในการป้อนกระดาษบนแท่นพิมพ์ทรงกระบอก (cylinder press) บางครั้งป้อนกระดาษไม่ทันหมึกจะพิมพ์ติดไปบนลูกโมแรงกดเมื่อป้อนกระดาษแผ่น ต่อไปหมึกบนแม่พิมพ์จะติดบนกระดาษด้านหนึ่ง แต่หมึกที่ขาดอยู่บนลูกโมแรงกดจะติดมาบนกระดาษ อีกด้านหนึ่ง เมื่อหยิบกระดาษมาดูหมึกที่ติดมาจากลูกโมแรงกดจะมีลักษณะสวยงาม นุ่มกว่า หมึกที่ผ่านจากตัวพิมพ์ไปติดบนกระดาษโดยตรง จึงได้เป็นแนวคิดของการพิมพ์ในระบบออฟเซต (offset printing) ขึ้น

4. ประวัติการพิมพ์ของประเทศไทย
การพิมพ์ของไทยตามหลักฐานที่ค้นพบน่าจะเกิดขึ้น ตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ใกล้กับ ประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของการพิมพ์ก่อนส่วนใด ๆ ของโลก แต่ประเทศไทยกลับได้รับอิทธิพลของการพิมพ์จากชาวยุโรป

nn

คลังบทความของเทคโนโลยีการพิมพ์