Custom Search
Latest Article Get our latest posts by subscribing this site

สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย: Thailand Printing Federation



สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ เกิดขึ้นจากความต้องการของกลุ่มสมาคมต่างๆ ที่ประกอบการเกี่ยวข้องกับการพิมพ์ เพื่อต้องการเข้า ไปช่วยเหลือและแก้ปัญหาต่างๆ ระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งปัญหาต่างๆ ส่วนใหญ่จะซ้ำซ้อนเหลื่อมล้ำกันมาตลอดระหว่างสมาชิก ของผู้ประกอบการ และในช่วงเวลาที่ผ่านมา บทบาทของการแก้ปัญหาระหว่างภาครัฐกับเอกชน ส่วนใหญ่รัฐบาลจะยอมรับฟังผ่าน ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นหลัก กลุ่มสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงเห็นว่า ควรจะมีการทำงานร่วมกันเป็นแนวทางเดียวกัน และควรนำปัญหาต่างๆ นำเสนอผ่านทางกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อยู่แล้ว ให้เป็นผู้ดำเนินการประกอบกับระหว่างนั้นได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งภาคของอุตสาหกรรมต่างๆ ในภูมิภาคเอชีย / เอเชียอาคเนย์ การพิมพ์และสิ่งพิมพ์หนังสือก็รวมอยู่ในข่ายที่จะต้องจัดตั้งเป็นภาคีของภูมิภาคด้วย โดยสาขาของอุตสาหกรรมการพิมพ์ ได้ถูกจัดให้ เป็นแกนนำของการพิมพ์ของประเทศที่จะเข้าไปร่วมจัดตั้งเป็นภาคี (printing and Publishing Club) 


จากสาเหตุดังกล่าว ประกอบกับความต้องการของผู้ประกอบทางด้านการพิมพ์ที่จะร่วมกันแก้ปัญหาของบรรดาสมาชิกจึงได้นำรูปแบบ การทำงานของกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ (ของสภาอุตสาหกรรมฯ) มาศึกษาและปรับโครงสร้างให้เข้ากับการทำงานของกลุ่มการพิมพ์ ดังนั้นในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2536 จึงมีมติจัดตั้งเป็นสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ เป็นแกนกลางประกอบด้วยสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวม 7 กลุ่ม โดยให้นายกทุกสมาคมทำหน้าที่เป็นมนตรีและทำการเลือกประธานมนตรีและจัดแบ่งการทำงานเป็น รูปแบบองค์กรชัดเจน โดยประธานมนตรีจะมีวาระการทำงานครั้งละ 1 ปี และจะสลับเปลี่ยนหมุนเวียนให้นายกของแต่ละกลุ่มเข้าทำหน้าที่ประธาน ซึ่งวันที่ 7 มกราคม 2536 เป็นวันกำเนิด สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ (สอกพ.) โดยได้เชิญนายกสมาคม ประธานกลุ่มและชมรม มาทำความตกลงในการเข้ารับตำแหน่งด้วยวิธีการจับฉลาก เพื่อมาทำหน้าที่ประธานคณะมนตรีท่านละ 1 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณอร่าม อามรดิษ พาไปลงสัตยาบันที่สโมสรรัฐสภา


วัตถุประสงค์

ผดุงไว้ซึ่งสิทธิประโยชน์ร่วมกันในการประกอบอาชีพของมวลสมาชิก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ
เพื่อเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการเข้าทำความตกลงกับรัฐบาลและองค์กรของประเทศในกรณีที่มีส่วนเกี่ยวพันและมีผล
กระทบกับอุตสาหกรรมการพิมพ์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง 


ประสานงานและปฏิบัติงานโดยพลันเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการพิมพ์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง
ทางด้านภาษี บุคลากร การถ่ายทอดเทคโนโลยีและอื่น
ส่งเสริมการประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการพิมพ์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ทั้งในทางปฏิบัติและในทางวิชาการ 


ให้การช่วยเหลือมวลสมาชิกที่มีปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรมการพิมพ์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

สมาชิกของสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์


1. สมาคมการพิมพ์ไทย

2. กลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

3. สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

4. สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย

5. สมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย

6. สมาคมการพิมพ์สกรีนไทย

7. ชมรมการจัดพิมพ์อิเล็กทรอนิกไทย

8. สมาคมส่งเสริมวิชาการพิมพ์

9. สมาคมแยกสีแม่พิมพ์เพื่ออุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย

คณะมนตรีสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ วาระปี 2556-2557


รายนามอดีตคณะมนตรีสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์










การพิมพ์ภาพ ( PRINTING )

การพิมพ์ภาพ หมายถึง การถ่ายทอดรูปแบบจากแม่พิมพ์ออกมาเป็นผลงานที่มีลักษณะ เหมือนกันกับแม่พิมพ์ทุกประการ และได้ภาพที่เหมือนกันมีจำนวนตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไป








การพิมพ์ภาพเป็นงานที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากการวาดภาพ ซึ่งการวาดภาพไม่สามารถ สร้างผลงาน 2 ชิ้น ที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการได้ จึงมีการพัฒนาการพิมพ์ขึ้นมา ชาติจีน ถือว่าเป็นชาติแรกที่นำเอาวิธีการพิมพ์มาใช้อย่างแพร่หลายมานานนับพันปี จากนั้น จึงได้แพร่หลายออกไปในภูมิภาคต่างๆของโลก ชนชาติทางตะวันตกได้พัฒนาการพิมพ์ภาพ ขึ้นมาอย่างมากมาย มีการนำเอาเครื่องจักรกลต่างๆเข้ามาใช้ในการพิมพ์ ทำให้การพิมพ์มีการ พัฒนาไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

การพิมพ์ภาพมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้ 
1. แม่พิมพ์ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพิมพ์ 
2. วัสดุที่ใช้พิมพ์ลงไป 
3. สีที่ใช้ในการพิมพ์ 
4. ผู้พิมพ์

ผลงานที่ได้จากการพิมพ์ มี 2 ชนิด คือ 
1.ภาพพิมพ์ เป็นผลงานพิมพ์ที่เป็นภาพต่างๆ เพื่อความสวยงามหรือบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ อาจมีข้อความ ตัวอักษรหรือตัวเลขประกอบหรือไม่มีก็ได้ 
2.สิ่งพิมพ์ เป็นผลงานพิมพ์ที่ใช้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ เป็นตัวอักษร ข้อความ ตัวเลข อาจมี ภาพประกอบหรือไม่มีก็ได้

ประเภทของการพิมพ์ การพิมพ์แบ่งออกได้หลายประเภทตามลักษณะต่าง ดังนี้ 

1. แบ่งตามจุดมุ่งหมายในการ พิมพ์ ได้ 2 ประเภท คือ 
1.1 ศิลปภาพพิมพ์ ( GRAPHIC ART ) เป็นงานพิมพ์ภาพเพื่อให้เกิดความสวยงามเป็น งานวิจิตรศิลป์ 
1.2 ออกแบบภาพพิมพ์ ( GRAPHIC DESIGN ) เป็นงานพิมพ์ภาพประโยชน์ใช้สอยนอก เหนือไปจากความสวยงาม ได้แก่ หนังสือต่างๆ บัตรต่างๆ ภาพโฆษณา ปฏิทิน ฯลฯ จัดเป็นงาน ประยุกต์ศิลป์ 

2. แบ่งตามกรรมวิธีในการพิมพ์ ได้ 2 ประเภท คือ 
2.1ภาพพิมพ์ต้นแบบ ( ORIGINAL PRINT ) เป็นผลงานพิมพ์ที่สร้างจากแม่พิมพ์และวิธี การพิมพ์ที่ถูก สร้างสรรค์และกำหนดขึ้นโดยศิลปินเจ้าของผลงาน และเจ้าของผลงาน จะต้องลงนามรับรองผลงานทุกชิ้น บอกลำดับที่ในการพิมพ์ เทคนิคการพิมพ์ และ วัน เดือน ปี ที่พิมพ์ด้วย 
2.2ภาพพิมพ์จำลองแบบ ( REPRODUCTIVE PRINT ) เป็นผลงานพิมพ์ที่สร้างจากแม่พิมพ์ หรือวิธี การพิมพ์วิธีอื่น ซึ่งไม่ใช่วิธีการเดิมแต่ได้รูปแบบเหมือนเดิม บางกรณีอาจเป็นการ ละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น

3. แบ่งตามจำนวนครั้งที่พิมพ์ ได้ 2 ประเภท คือ 
3.1ภาพพิมพ์ถาวร เป็นภาพพิมพ์ที่พิมพ์ออกมาจากแม่พิมพ์ใดๆ ที่ได้ผลงานออกมามีลักษณะ เหมือนกันทุกประการ ตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไป 
3.2ภาพพิมพ์ครั้งเดียว เป็นภาพพิมพ์ที่พิมพ์ออกมาได้ผลงานเพียงภาพเดียว ถ้าพิมพ์อีกจะ ได้ผลงานที่ไม่เหมือนเดิม





4. แบ่งตามประเภทของแม่พิมพ์ ได้ 4 ประเภท คือ 
4.1แม่พิมพ์นูน ( RELIEF PROCESS ) เป็นการพิมพ์โดยให้สีติดอยู่บนผิวหน้าที่ทำให้นูน ขึ้นมาของแม่พิมพ์ ภาพที่ได้เกิดจากสีที่ติดอยู่ในส่วนบนนั้น แม่พิมพ์นูนเป็นแม่พิมพ์ ที่ทำขึ้นมาเป็นประเภทแรก ภาพพิมพ์ชนิดนี้ได้แก่ ภาพพิมพ์แกะไม้ ( WOOD-CUT ) ภาพพิมพ์แกะยาง ( LINO-CUT ) ตรายาง ( RUBBER STAMP ) ภาพพิมพ์จากเศษวัสดุต่างๆ 
4.2แม่พิมพ์ร่องลึก ( INTAGLIO PROCESS ) เป็นการพิมพ์โดยให้สีอยู่ในร่องที่ทำให้ลึกลง ไปของแม่พิมพ์โดยใช้แผ่นโลหะทำเป็นแม่พิมพ์ ( แผ่นโลหะที่นิยมใช้คือแผ่นทองแดง ) และทำให้ลึกลงไปโดยใช้น้ำกรดกัด ซึ่งเรียกว่า ETCHING แม่พิมพ์ร่องลึกนี้พัฒนาขึ้นโดย ชาวตะวันตก สามารถพิมพ์งานที่มีความ ละเอียด คมชัดสูง สมัยก่อนใช้ในการพิมพ์ หนังสือ พระคัมภีร์ แผนที่ เอกสารต่างๆ แสตมป์ ธนบัตร ปัจจุบันใช้ในการพิมพ์งานที่เป็นศิลปะ และธนบัตร 
4.3แม่พิมพ์พื้นราบ ( PLANER PROCESS ) เป็นการพิมพ์โดยให้สีติดอยู่บนผิวหน้า ที่ราบเรียบของแม่พิมพ์ โดยไม่ต้องขุดหรือแกะพื้นผิวลงไป แต่ใช้สารเคมีเข้าช่วย ภาพพิมพ์ ชนิดนี้ได้แก่ ภาพพิมพ์หิน ( LITHOGRAPH ) การพิมพ์ออฟเซท ( OFFSET ) ภาพพิมพ์กระดาษ ( PAPER-CUT ) ภาพพิมพ์ครั้งเดียว ( MONOPRINT ) 
4.4 แม่พิมพ์ฉลุ ( STENCIL PROCESS ) เป็นการพิมพ์โดยให้สีผ่านทะลุช่องของแม่พิมพ์ลงไป สู่ผลงานที่อยู่ด้านหลัง เป็นการพิมพ์ชนิดเดียวที่ได้รูปที่มีด้านเดียวกันกับแม่พิมพ์ ไม่กลับซ้าย เป็นขวา ภาพพิมพ์ชนิดนี้ได้แก่ ภาพพิมพ์ฉลุ ( STENCIL ) ภาพพิมพ์ตะแกรงไหม ( SILK SCREEN ) การพิมพ์อัดสำเนา ( RONEO ) เป็นต้น

ที่มาจาก http://www.mew6.com/composer/art/printing.php

ตลาดหนังสือในปัจจุบัน




อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในปัจจุบันนี้มีสำนักพิมพ์มากมายที่เปิดรับต้นฉบับในรูปแบบของก็เช่าลิขสิทธิ์เพื่อนำมาจัดจำหน่าย มีสำนักพิมพ์เกิดขึ้นอย่างมากมาย การพิมพ์เผยหลายในเมืองไทยมีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนกระทั่งกลายเป็นสากลในยุคปัจจุบัน จากข้อมูลของ สมาคมผู้จัดพิมพ์ที่ทำขึ้นเมื่อราว ต้นปี พ.ศ.2551 ระบุว่าใน ปี พ.ศ. 2550 มีสำนักพิมพ์ที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้จัดพิมพ์อยู่ถึง491 สำนักพิมพ์ มีการผลิตหนังสือใหม่ออกสู่ท้องตลาดเดือนละ 955 เล่ม ต่อเดือนเลยทีเดียว หรืออีกนัยหนึ่งคือจะมีหนังสือใหม่ออกสู่ท้องตลาดราว 32 เล่มต่อวัน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนังสือใหม่ถูกเบียดตกแผงไปอย่างรวดเร็ว แต่ทั้งนี้อัตราการผลิตหนังสือดังกล่าวยังเทียบว่าน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วถึง5- 10 เท่าโดย ตลาดเมืองไทยมีมูลค่ารวมในปี 2550 ประมาณ 18,000 ล้านบาท และในปี 2551 นี้คาดการณ์กันว่า ตลาดหนังสือมีมูลค่าถึง 19,200 ล้านบาท โดยกว่า 88 เปอร์เซ็นต์ของยอดจำหน่าย จะถูกแชร์อยู่ในสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่และขนาดกลาง 


การพิมพ์ของไทยมีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ ปัจจุบันได้กลายเป็นอุตสาหกรรมการพิมพ์เต็มรูปแบบและมีแนวโน้มจะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการ ของคนได้ในทุกกลุ่ม ทั้งเป็นเรื่องของความรู้ความบันเทิง และตอบสนองได้แม้กระทั่งความสนใจเฉพาะทาง แต่ความรู้เหล่านั้น จะถ่ายทอดถึงกันไม่ได้เลยหากเราเลือกที่ จะวางหนังสือไว้อย่างเงียบๆบนชั้นหนังสือโดยที่ไม่ได้เปิดออกอ่าน

หมอบลัดเลย์ บิดาแห่งวงการพิมพ์ของไทย

หมอบรัดเลย์ หรือ แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley, M.D.)เป็นหมอสอนศาสนา ชาวเมืองมาร์เซลลัส (Marcellus) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบุครคนที่ 5 ของ นายนายแดน บรัดเลย์และนางยูนิช บีช บรัดเลย์ บิดาเป็นต้นแบบของหมอบลัดเลย์โดยเคยเป็นทั้ง หมอสอนศาสนา ผู้พิพากษา เกษตรกร และบรรณาธิการวารสารทางเกษตรกรรม ดังนั้นจึงสร้างเป็นแนวความคิดให้หมอบลัดเลย์ใฝ่ฝันอยากจะเผยแพร่ศาสนาอย่างผู้เป็นบิดาบ้างจึงตัดสินใจเข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์ เมื่อจบการศึกษาก็สมัครเป็นมิชชั่นนารีในองค์กร American Board of Commissioners of Foreign Missions(ABCFM) หมอบลัดเลย์เดินทางมาเผยแพร่ ศาสนาในประเทศไทยในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 โดยได้แวะที่สิงคโปร์และได้รับชุดตัวพิมพ์ภาษาไทยที่ American Board of Commissioners of Foreign Missions ในประเทศสิงคโปรได้ซื้อไว้ ก่อนจะเดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทย

หมอบรัดเลย์บิดาแห่งวงการพิมพ์ไทย
                               ภาพจากหนังสือหมอบรัดเลย์กับการหนังสือพิมพ์แห่งกรุงสยาม(สนพ.ศิลปวัฒนธรรม)



ในระยะแรกหมอบลัดเลย์ได้อาศัยอยู่ในละแวกสัมพันธวงศ์โดยเปิดเป็นร้านจ่ายยา และช่วยรักษาโรคให้แก่ชาวพระนคร ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ฝั่งธนบุรี และได้รักษาพยาบาลคนเรื่อยมาโดยผลงานที่สำคัญคือการผ่าตัดผู้ป่วยคนไทยจนสามารถรักษาชีวิตเอาไว้ได้ถือว่าเป็นการผ่าตัดครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเลยทีเดียว ส่วนในงานเผยแพร่ศาสนานั้นหมอบลัดเลย์ก็ไม่ได้ละเลย ยังคงเผยแพร่คำสอนของศาสนาคริสต์อยู่เรื่อยมาและการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นั้นจำเป็นต้องมีหนังสือเพื่อช่วยให้คนเข้าอกเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาใหม่นี้ได้ง่ายขึ้นดังนั้นหมอบลัดเลย์จึงย้ายไปอาศัยอยู่ ข้างวัดประยูรวงศาวาส ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีทำเลดีและได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแพร่ศาสนา และได้ใช้ ตัวอักษรภาษาไทยที่ได้มาจากสิงคโปร์ในคราวที่แวะจอดเรือก่อนจะเข้ามาประเทศไทย งานชิ้นแรกที่ หมอบลัดเลย์พิมพ์เป็นภาษาไทยในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2382 คือ การพิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่นและห้ามค้าฝิ่น ที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำขึ้นจำนวน 9,000 แผ่น ซึ่งนับว่าเป็นเอกสารราชการไทยฉบับแรกที่พิมพ์ขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์

ต่อมาในปีพ.ศ. 2385 หมอบลัดเลย์ได้หล่อชุดพิมพ์ขึ้นมาใหม่ และในอีกสองปีต่อมาหมอบลัดเลย์ได้ใช้ชุดพิมพ์ตัวใหม่นี้ จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์รายเดือนภาษาไทยฉบับแรกขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่าชื่อว่า บางกอกรีคอเดอ (Bangkok Recorder) ออกวางจำหน่าย ซึ่งถือเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกที่มีขึ้นในประเทศไทย แต่หนังสือพิมพ์เล่มดังกล่าวก็อยู่ได้ไม่นานต้องปิดตัวไป เพราะเป็นช่วงเวลาที่ภรรยาของหมอบลัดเลย์สิ้นชีวิตพอดีทำให้การดำเนินกิจการหนังสือพิมพ์รีคอเดรอ์ไม่สามารถเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงต้องหยุดลงชั่วคราวโดยหมอบลัดเลย์ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศของตนเป็นระยะเวลาหนึ่งและได้แต่งงานใหม่ก่อนจะกลับคืนสู่ประเทศไทยอีกครั้ง กลับมาคราวนี้หมอหมอบลัดเลย์ได้ลาออกจาก American Board of Commissioners of Foreign Missions เข้ามาย้ายไปสังกัดองค์กร American Missionary Association (AMA) แทน 

องค์กรใหม่มีฐานะทางการเงินไม่สู้ดีเท่าทีควรจึงทำให้หมอบลัดเลย์ต้องหารายได้พิเศษโดยการพิมพ์หนังสือขาย เพื่อจุนเจือฐานะทางการเงิน โดยหนังสือที่พิมพ์ในช่วงนี้มีหลายหลายประเภททั้ง ตำราเรียนภาษาไทย เช่น ประถม ก กา จินดามณี หนังสือกฎหมายทั้งยังพิมพ์เรื่องในวรรณคดีต่างๆเช่น ราชาธิราช สามก๊ก เลียดก๊ก ไซ่ฮั่น เป็นต้นและในช่วงนี้เองที่ทำให้มีการซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเพื่อมาจัดพิมพ์วางจำหน่ายเป็นครังแรกในประเทศไทยเมื่อ หมอบลัดเลย์ได้ซื้อลิขสิทธิ์ของหนังสือ นิราศลอนดอนที่เขียนโดย หม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร) เป็นเงิน 400 บาท ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2404 ทำให้หนังสือเล่มดังกล่าวเป็นหนังสือเล่มแรกของไทยที่มีการซื้อขายลิขสิทธ์ตามแบบอย่างตะวันตก และสำนักพิมพ์ต่างๆก็ยังคงยึดถือหลักการนี้สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ที่มา http://vcharkarn.com/varticle/38234

ประวัติการพิมพ์ของในประเทศไทย

ในอดีตไทยใช้การเขียนบันทึกความรู้ต่างๆลงในใบลาน เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดกันระหว่างรุ่นสู่รุ่น เทคโนโลยีเกี่ยวกับการพิมพ์ ปรากฎขึ้นในดินแดนสยามเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันถือว่าเป็นยุคหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีที่มีชาวต่างชาติเข้ามาใช้ชีวิตในสยามมากมาย ทั้งจีน แขก และฝรั่ง หนังสือในรูปแบบของการพิมพ์ตัวอักษรมาพร้อมกับหมอสอนศาสนาชาวต่างชาติที่มีเป้าประสงค์หลักคือการเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในภูมิภาคนี้ บาทหลวงที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทในเรื่องการพิมพ์มากที่สุดในยุคนั้นคงไม่พ้นจากบาทหลวงชาวฝรั่งเศสนาม ลาโน (Mgr Laneau) ที่ได้จัดพิมพ์คำสอนทางคริสต์ศาสนาขึ้นมาเผยแพร่ จนเป็นที่พอพระทัยในองค์พระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และในคราวที่ ออกญาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นราชทูตเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสก็ได้เข้าเยี่ยมชมกิจการงานพิมพ์ของฝรั่งเศสและแสดงความสนอกสนใจเป็นอย่างมากจนกระทั่งในกาลต่อมาพระนารายณ์มหาราชทรงมีรับสั่งให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้น ที่เมืองลพบุรีอันเป็นสถานที่พระองค์ใช้พำนักอยู่ในช่วงปลายรัชกาล แต่ กิจการงานพิมพ์ของสยามในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาก็ต้องหยุดชะงักลงอีกครั้งเมื่อมีเกิดการผลัดแผ่นดิน เป็นแผ่นดินของพระเพทราชา ที่ไม่ค่อยโปรดพวกมิชชั่นนารีเท่าทีควรเป็นเหตุให้พัฒนาการเกี่ยวกับการพิมพ์ของสยามในช่วงนั้นต้องหยุดชะงัดลงไปด้วย

  หนังสือใบลานในยุคเก่า
                                           ภาพจาก http://kanchanapisek.or.th


บุคคลสำคัญในประวัติการพิมพ์ของไทยอีกคนหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือ นางจัดสัน (Nancy Judson) ซึ่งเป็นมิชชันนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในเมืองย่างกุ้งของประเทศพม่า มีความสนอกสนใจในภาษาไทยจึงได้ทำการหล่อตัวพิมพ์เป็นภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2356 หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สองไปแล้วราว 40 กว่า ปี แต่ต่อมาตัวพิมพ์ชุดนี้ยังไม่ทันได้ใช้งาน ก็ถูกซื้อไปเก็บไว้ที่ประเทศสิงคโปร์โดย โดยมิชชันนารีคณะ American Board of Commissioners for Foreign Missions อันเป็นคณะมิชชันนารี ที่ หมอบลัดเลย์ได้เข้ามาสังกัดอยู่ และภายหลังได้ใช้ชุดหล่อตัวพิมพ์ชิ้นนี้ พิมพ์หนังสือภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรกจนได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการพิมพ์ของไทย


ประวัติความเป็นมาการพิมพ์ของโลก


ก่อนที่เราจะมีหนังสือเป็นแหล่งความรู้หลักอย่างเช่นในปัจจุบันนี้ หนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์มีวิวัฒนาการที่ยาวนานข้ามยุคข้ามสมัยมานานนับพันปี หนังสือสื่อสิ่งพิมพ์ถือว่าเป็นความบันเทิงอย่างแรกๆของมนุษย์เรา แต่ในปัจจุบันเรามีสื่อที่หลากหลาขึ้น ทั้งในรูปของเสียง เช่น วิทยุ เพลง หรือภาพและเสียงอย่าง โทรทัศน์ DVD หรือสื่ออินเตอร์เนตที่มีเครือข่ายโยงใยไปทั่วโลก

วิวัฒนาการของหนังสือเกิดขึ้นการจากที่มนุษย์ได้เรียนรู้ สิ่งต่างๆสั่งสมเป็นความรู้และประสบการณ์จนกระทั่งลงมือละเลงวาดสิ่งที่พบเห็นมาและวิถีชีวิตไว้บนผนังถ้ำอันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ถ้ำจึงเป็นทั้งที่อยู่ค่อยคุ้มแดดคุ้มฝนและภัยจากสัตว์ร้ายที่ยังมีอยู่ชุกชุมในอดีต ทั้งยังกลายเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่คอยบันทึกเรื่องราวผ่านยุคสมัยให้สืบทอดมายังปัจจุบัน ในยุคก่อนประวัติศาสตร์เราพบ ศิลปะภาพพิมพ์บนผนังถ้ำในประเทศฝรั่งเศส และสเปน ทั้งยังมีการค้นพบรูปสลักผนังถ้ำที่มีอายุเก่าแก่ต่างๆมากมายในถ้ำต่างๆ การแกะสลักภาพวิถีชีวิตของคนในยุคนั้นถือว่าเป็นหลักฐานอย่างแรกในการ แกะแบบพิมพ์ของมนุษย์


42 - Line Bible เอกสารชิ้นแรกของโลกที่ผ่านระบบการพิมพ์
                                                                ภาพจาก http://gotoknow.org


เมื่อโลกเราก้าวเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ราวก่อนคริสตกาลประมาณ 5,000 ปี มนุษย์ในแถบอารายธรรมเมโสโปเตเมียเริ่มรู้จักการใช้ ของแข็งกดลงบนดินเพื่อให้เกิดเป็นลวดลายและตัวอักษร จนกระทั่งถึงอารยะธรรมกรีกโบราณที่แสนรุ่งโรจน์ใช้วิธีเขียนหนังสือบนแผ่นไม้ ที่ทำจากต้นบีช (Beech) หรือที่เรียกกันในภาษาแองโกล-แซกซอนเรียกว่า BOC จนเป็นที่มาของคำว่าBookในปัจจุบัน ในขณะที่อีกฟากของอารยะธรรมอย่างในดินแดนตะวันออก ผู้นำอารยะธรรมอย่างจีน ก็เริ่มมีการบันทึกตัวอักษรลงบนแผ่นไม้ และใบลานตั้งแต่ก่อนคริสตกาลประมาณ 1,300 ปี

หลังจากนั้นมนุษย์มีวิวัฒนาการที่นำหนังสัตว์มาใช้แทนกระดาษ โดยผ่านการฟอกและขัดจนเรียบใช้ทำเป็นม้วนบันทึกเรื่องราวต่างๆลงบนแผ่นหนังจนกระทั่ง ในพ.ศ.648( ค.ศ. 105) ชาวจีนชื่อ ไซลัน (Silan) ได้คิดค้นวิธีทำกระดาษจนกระดาษได้กลายเป็นวัสดุสำคัญที่ใช้ในการบันทึกเรื่องราวต่างๆอย่างเช่นในปัจจุบัน ในบรรพกาลปราชญ์ชาวจีนคิดค้นสิ่งต่างๆที่มีประโยชน์ได้ ก่อนชาวยุโรปมามกมายหลายสิ่งแต่ขาดการพัฒนาการที่ต่อเนื่องทำให้ล้าหลังและองค์ความรู้ไม่ได้ต่อยอดเท่าทีควร เช่น การที่จีนรู้จักคิดค้นดินประสิวก่อนชาติใดในโลก การสร้างเรือสำเภา กระดาษอันเป็นวัสดุจำเป็นที่ใช้ในการบันทึกสิ่งต่างๆก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่ปราชญ์ชาวที่จีนได้คิดค้นขึ้น แต่ขาดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม

จนกระทั่งการใช้กระดาษเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ในยุโรปเองก็ต้องการบันทึกความรู้และเรื่องราวต่างๆมากขึ้นจนในราวคริตศตวรรษที่ 15 โจฮัน กูเต็นเบิร์ก ได้พัฒนาแม่แบบสำหรับหล่อตัวพิมพ์โลหะเป็นตัว ๆ ซึ่งนำมาเรียงต่อกันได้เป็นประโยคและสามารถพัฒนาเป็นเครื่องพิมพ์ได้จนสำเร็จทำให้การพิมพ์ย่างก้าวเข้าสู่ยุคการพิมพ์ซึ่งถือว่าเป็นการปฎิวัติครั้งสำคัญของวงการการพิมพ์ ผลงานอันมีชื่อเสียงของกูเต็นเบิร์ก คือ คัมภีร์ 42 บรรทัด (42 - Line Bible) ที่ได้จัดพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. 1998 (ค.ศ. 1455)

กระบวนการเตรียมน้ำยาเคลือบกระดาษ



ในการเตรียมน้ำยาเคลือบกระดาษเป็นการนำองค์ประกอบต่างผสมกัน กระบวนการผสมประกอบด้วยการกวน( agitation ) การผสม( mixing ) การกระจายตัว ( dispersion ) และขั้นตอนในการเตรียมน้ำยาเคลือบ( coating color preparation )
  การกวน หมายถึง การผสมน้ำยาเคลือบให้เข้ากันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตกตะกอนและการนอนก้นของสารผสมต่างๆ ในถัง การกวนจะมีแรงเฉือนต่ำเพื่อให้ความเร็วของการไหล และแบบการไหลภายในถังมีความเหมาะสม ดังนั้นจุดประสงค์ของการกวน คือ ต้องการให้สารผสมต่างๆ กระจายตัวและไหลถายในถังมีความเหมาะสม ดังนั้นจุดประสงค์ของการกวน คือ ต้องการให้สารผสมต่างๆ กระจายตัวและไหลวนในถัง
  ระบบของการกวนประกอบด้วย ถัง และอุปกรณ์ที่ทำให้ของไหลเคลื่อนที่ไป การไหลวนของของเหลว จะต้องอาศัยใบกวนหรือใบพัด
  1.1 .ใบกวนหรือใบพัด เป็นอุปกรณ์เพื่อทำให้ของไหลเกิดการเคลื่อนตัวไป ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการเตรียมน้ำยาเคลือบจะมีนิยมใช้ใบพัดที่เป็นใบพัดแบบใบพัดเรือ( marine type propeller ) การออกแบบใบพัดมีทั้งแบบตั้งฉากกับแกนถัง( radial ) และแบบทแยงกับแกนถัง ( axial )
1.2 ถัง ถังที่ใช้จะได้รับการออกแบบที่แตกต่างกันขึ้นกับประสิทธิภาพในการกวน ถังจะมีลักษณะต่างๆกัน แบบทรงกลม หรือทรงเหลี่ยม ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ความสูงหรือความกว้าง ความยาว ที่แตกต่างกันโดยทั่วไปกระบวนการเตรียมน้ำยาเคลือบนิยมใช้ถังรูปทรงกระบอกแนวตั้ง มีมอเตอร์อยู่ด้านบนสุดของถัง การออกแบบและการเลือกใช้วัสดุสำหรับการสร้างถังจะขึ้นกับราคาและจุดที่ติดตั้งของใบพัด
  สำหรับของเหลวที่มีความหนืดมากกว่า 5,000 เซนติพอยส์ นิยมใช้ถังรูปทรงกระบอกที่ไม่มีใบพัดติดข้างถัง ( baffle ) มากกว่าเพื่อลดปัญหาพื้นที่ที่ไม่มีการเคลื่อนที่ ส่วนน้ำยาเคลือบที่มีความหนืดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลานิยมติดตั้งใบพัดข้างถัง บางครั้งภายในถังอาจมีขดลวดความร้อนอยู่หรือวัสดุอื่นที่ช่วยทำให้มีการไหลที่ดีขึ้น ส่วนถังที่มีรูปร่างที่เหลี่ยมผืนผ้าจะไม่ค่อยนิยมใช้
  สารผสมส่วนใหญ่ของน้ำยาเคลือบกระดาษปกติจะมีความหนืดที่ไม่สูงมากนัก  จึงนิยมใช้ถังทรงกระบอกที่ไม่มีใบพัดติดข้างถัง  และใช้ใบกวนชนิดต่างๆตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ในการกวนควรสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้เกิดวอร์เทค( vortex ) หรือกระแสวน ถ้าการมีแรงเฉือนมากจะทำให้เกิดกระแสวนได้ ซึ่งจะทำให้อากาศด้านบนมีโอกาสผสมลงไปในน้ำยาเคลือบกระดาษ เกิดเป็นฟองในน้ำยาเคลือบได้
2. การผสม
  การผสมเป็นกระบวนการปั่นหรือผสมสารตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปให้เข้ากันได้อย่างเหมาะสม การผสมจะทำให้ปริมาณการจับกันเองของสารผสมต่างๆ น้อยลง ทำให้เกิดเป็นอิมัลชันขนาดเล็กหรือการกระจายตัวเป็นสารแขวนลอย
  การผสมเมื่อเปรียบเทียบกับการกวนแล้ว การผสมจะมีลักษณะที่เป็นการเข้ากันของสารที่มีการไหลที่มากมายหลายตัวผสมกันรอบๆ ใบพัด กล่าวคือถ้าใบพัดขนาดเล็กก็ต้องใช้ความเร็วรอบของใบพัดที่สูงขึ้น แรงเฉือนจะขึ้นกับการหมุนของใบพัดจึงทำให้ของเหลวหลายชนิดเกิดการผสมกันได้
  ถังผสมปกติจะออกแบบให้มีขนาดเล็กกว่าถังพักที่ใช้ในการกวน ถังผสมจะมีรูปทรงด้านล่างเป็นรูปกรวยและโดยมากจะมีผนัง 2 ประเภทที่นิยมใช้กัน คือ การหมุนแบบเปิดและปิด แบบเปิดจะมีความเร็วรอบของใบพัดสูงมากเพื่อให้เกิดการผสมของสารหลายชนิดดีขึ้น
3. การกระจายตัว
  การกระจายตัว หมายถึง การกระจายตัวของเม็ดสารต่างๆ ที่มีขนาดเล็กในของผสมหนึ่งๆ ความแตกต่างระหว่างการกระจายตัวกับการผสม คือ การผสมจะไม่เปลี่ยนแปลงขนาดและพื้นที่ผิวของเม็ดสารขณะที่การกระจายตัวจะทำให้สมบัติทางกายภาพเปลี่ยนแปลง พื้นที่ผิวโดยรวมของเม็ดสารเพิ่มขึ้น และจะลดขนาดของเม็ดสารโดยเฉลี่ย การผสมที่ดีสามารถบอกถึงการกระจายตัวที่ดีด้วยและสามารถพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ ได้ คือ การลดขนาดเม็ดสาร และการกระจายตัวที่ดีจะมีความหนืดต่ำที่สุด
  ปกติแรงเฉือนสูงจะนำมาใช้ในการกระจายตัวสารที่เป็นก้อนกลายเป็นเม็ดสารขนาดเล็ก โดยวิธีการวัดของเหลวที่กระจายตัวแล้วผ่านตะแกรงกรองที่มีขนาดของรูตะแกรงเท่ากับ 325 เมช ( ขนาดรูเปิดตะแกรงเท่ากับ 44 ไมครอน ) แล้วของเหลวดังกล่าวสามารถลอดผ่านตะแกรงนี้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 98 โดยน้ำหนัก หรือ สามารถนำของเหลวนั้นมาหาขนาดเม็ดสารโดยวิธีการหาลักษณะการกระจายตัวของอนุภาค
  การหาค่าความเหมาะสมในการกระจายตัวของน้ำยาเคลือบสามารถหาได้โดยการวัดความหนืดของน้ำยาเคลือบ เปรียบเทียบกับปริมาณการใช้สารที่ช่วยทำให้กระจาย ถ้าน้ำยาเคลือบที่มีการกระจายตัวดีควรมีปริมาณการใช้ของสารที่ช่วยทำให้กระจายน้อยที่สุด การใช้สารที่ช่วยทำให้กระจายมากเกินไปทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
  การที่จะทราบว่าของผสมกันได้ดีหรือไม่ต้องพิจารณาถึงคุณภาพภายนอกที่ได้จากการสังเกตถึงความหนืดที่เปลี่ยนแปลงไป การเข้ากันของของผสม การเปลี่ยนแปลงของปริมาณเนื้อสารจะต้องน้อยที่สุดเมื่อเวลาเปลี่ยนไป และการเปลี่ยนแปลงสีในน้ำยาเคลือบต้องน้อยที่สุด
4. ขั้นตอนในการเตรียมน้ำยาเคลือบ
  การเตรียมน้ำยาเคลือบกระดาษสามารถแบ่งได้เป็นขั้นตอนๆ ทั่วไปได้ ดังนี้
  4.1 เติมน้ำยาตามปริมาตรที่คำนวณได้จากขนาดของถังผสม เพื่อเตรียมผงสีขาวชนิดต่างๆให้มีปริมาณเนื้อผงสีเท่ากับร้อยละ 70 โดยน้ำหนัก
  4.2 เติมสารเติมแต่งประเภทสารที่ช่วยทำให้กระจายในปริมาณร้อยละ 0.2-0.5 โดยน้ำหนักของผงสีทั้งหมด
  4.3 เติมโซดาไฟเพื่อปรับความเป็นกรด-ด่างของน้ำยาเคลือบเท่ากับ 9.0
  4.4 เปิดใบพัดของถังผสมซึ่งสามารถปรับความเร็วได้ 2 ระดับ คือ เร็วและช้า ในขั้นตอนนี้ให้เปิดความเร็วรอบของใบพัดที่ระดับช้า เพื่อให้สารที่ช่วยทำให้กระจายและโซดาไฟกระจายตัวประมาณ 2-5 นาที
  4.5 เติมผงสีขาวชนิดต่างๆ ที่คำนวณในสูตรแล้วลงในถังผสม พร้อมกับปรับระดับความเร็วรอบใบพัดเป็นที่ระดับเร็ว ผสมให้เข้ากันโดยใช้เวลาประมาณ 20-25 นาที
  4.6 เปิดใบพัดที่ระดับช้า เติมสีย้อมและตัวยึดธรรมชาติ เช่น โปรตีนจากถั่วเหลือง หรือแป้งปรุงแต่งลงในถังผสมที่กำลังผสมผงสีขาวต่างๆอยู่ พร้อมทั้งเติมน้ำตามไปด้วยเล็กน้อยแล้วเปิดใบพัดที่ระดับเร็วผสมต่ออีกประมาณ 10-15 นาที
  4.7 เปิดใบพัดที่ระดับช้า เติมสารเติมแต่งประเภทสารหล่อลื่น สารเพิ่มความขาวสว่าง สารกันบุด น้ำยาลดฟองลงไปผสมต่อประมาณ 2 นาที
  4.8 เติมตัวยึดลาเทกช์เป็นสารสุดท้าย การเติมเป็นสารสุดท้ายจะช่วยป้องกันการเกิดฟองจากลาเทกช์และอาจจะต้องปรับความเป็นกรด-ด่างตามที่กำหนดด้วยแอมโมเนีย ค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำยาเคลือบโดยปกติกำหนดอยู่ระหว่าง 8.5-9
  4.9 ตรวจสอบคุณภาพของน้ำยาเคลือบตามที่ต้องการ ได้แก่ ความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณเนื้อของน้ำยาเคลือบ และความหนืด ทั้งนี้ขึ้นกับเครื่องเคลื่อบที่นำน้ำยาไปเคลือบ

ปัญหาและแนวทางป้องกันในการผลิตกระดาษเคลือบ

  เนื่องจากในปัจจุบันเครื่องเคลือบแบบใบมีดปาดมีบทบาทสำคัญมาก ปัญหาที่พบในการผลิตกระดาษเคลือบจึงเกิดจากเครื่องเคลือบแบบใบมีดปาดเป็นส่วนใหญ่
1. ปัญหาและลักษณะของรอยขีดข่วนและรอยเส้นน้ำยาเคลือบ
  ปัญหารอยขีดข่วนและรอยเส้นน้ำยาเคลือบที่เกิดจากการเคลือบน้ำยาเคลือบด้วยเครื่องเคลือบแบบใบมีดปาดเป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุดและพบบ่อยที่สุดและพบบ่อยที่สุดจึงมีการค้นหามาตรการป้องกันมาโดยตลอด ตั้งแต่การปรับปรุงเครื่องเคลือบกระดาษ การเลือกใช้วัสดุดิบในการเตรียมน้ำยาเคลือบ และการเลือกกระดาษรองรับ
  รอยขีดข่วน คือ รอยที่เกิดขึ้นบนผิวของชั้นเคลือบในลักษณะเป็นเส้นเล็กๆ คล้ายเส้นผมที่มีความกว้างต่ำกว่า 3 มิลลิเมตร รอยนี้จะเกิดขึ้นในแนวขนานเครื่องเป็นทางยาวหลายเมตรไปถึงหลายร้อยเมตร ถ้าส่องดูจะพบว่าส่วนที่เป็นรอยขีดข่วนจะมีความทึบแสงต่ำกว่าผิวของชั้นน้ำยาเคลือบปกติ
  รอยเส้นน้ำยาเคลือบ คือ รอยที่เกิดขึ้นบนผิวของชั้นเคลือบที่มีขนาดระหว่าง 3-6 มิลลิเมตร หรือมากกว่าโดยมีความยาวหรือน้อยคล้ายๆ กับรอยขีดข่วน ถ้าส่องดูจะพบว่าบริเวณกึ่งกลางของรอยมีความทึบแสงต่ำกว่าส่วนอื่นๆ แต่บริเวณขอบของรอยเส้นน้ำยาเคลือบจะมีความทึบแสงสูงกว่าส่วนอื่นๆ
2. กลไกการเกิดรอยเส้นน้ำยาเคลือบและรอยขีดข่วน
  กลไกการเกิดรอยเส้นน้ำยาเคลือบและรอยขีดข่วนสามารถอธิบายได้ดังนี้
  4.1 กรณีน้ำยาเคลือบกระดาษที่มีปริมาณเนื้อน้ำยาเคลือบมาก น้ำยาเคลือบจะแห้งจับตัวเป็นก้อนตามปลายใบมีดปาดขณะเดียวกันกับที่น้ำยาซึมเข้าไปในกระดาษรองรับด้วย จึงทำให้เกิดรอยเส้นน้ำยาเคลือบและรอยขีดข่วนได้
  4.2 น้ำยาเคลือบบางชนิดมีแนวโน้มที่จะแข็งตัวหลังจากไหลผ่านใต้ใบมีดและทำให้เกิดรอยเส้นน้ำยาเคลือบและรอยขีดข่วนได้
  4.3 ความหนืดของน้ำยาเคลือบกระดาษที่ไม่เหมาะสม
3 การป้องกันการเกิดรอยเส้นน้ำยาเคลือบและรอยขีดข่วน
  มีการสรุปปัญหาของการเกิดรอยเส้นน้ำยาเคลือบและรอยขีดข่วนว่าเกิดจากสมบัติการไหลและสิ่งแปลกปลอม ซึ่งสามารถป้องกันได้โดย
1. เลือกใช้กระดาษรองรับที่มีผิวหยาบและความต้านการซึมน้ำสูง
2. ปรับส่วนผสมของน้ำยาเคลือบให้มีปริมาณเนื้อน้ำยาเคลือบและความหนืดต่ำ แต่ให้การคงไว้ของน้ำสูง
3. เลือกใช้เครื่องเคลือบและการเดินเครื่องเคลือบที่เป็นแบบอื่นที่มีแรงกดที่ใบมีดต่ำ
4. เติมแคลเซียมคาร์บอนในปริมาณที่เหมาะสมก็จะช่วยลดปัญหารอยขีดข่วนได้
 ในกรณีที่รอยขีดข่วนเกิดจากสิ่งแปลกปลอมปะปนเข้าไป เช่น เศษวัสดุของใบมีดปาด เส้นใยเยื่อของกระดาษรองรับ เส้นใยจากผ้าใบที่เครื่องจักรผลิตกระดาษรองรับ สิ่งแปลกปลอมที่มีขนาดใหญ่กว่า 160 ไมครอนจะเป็นสาเหตุให้เกิดรอยเส้นน้ำยาเคลือบได้ ถ้ามีขนาดเล็กกว่า 75 ไมครอนก็จะไม่เกิดปัญหารอยเส้นน้ำยาเคลือบวิธีป้องกัน คือ ต้องกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกให้หมดก่อนทำการเคลือบ



การไหลและการแข็งตัวของสารยึดติด

  โดยปกติสารยึดติดที่นำมาใช้งานจะอยู่ในรูปของเหลว เพื่อช่วยให้สารยึดติดไหลไปได้ทั่วบนผิวหน้าของวัสดุที่ต้องการยึดติด จากนั้นนำวัสดุที่ต้องการยึดติดอีกชิ้นมาประกบ ในการเกิดการยึดติดนั้น สารยึดติดจะเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของแข็งหรือเจลยึดติดเข้าด้วยกัน ในการเปลี่ยนสถานะของสารยึดติดจากของเหลวเป็นของแข็งสามารถกระทำได้ 4 วิธี คือ การเกิดพอลิเมอร์( polymerization ) การปล่อยตัวพา( releasing carrier ) การปล่อยให้เย็นลง( cooling ) และการใช้แรงกด( pressuring )
2.1  การเกิดพอลิเมอร์ การแข็งตัวของสารยึดติดโดยการเกิดพอลิเมอไรเซชัน เป็นปฏิกิริยาทางเคมีที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพอลิเมอร์เพื่อให้เกิดการยึดติดด้วยการเชื่อมโยงระหว่างโซ่ของพอลิเมอร์จนเกิดเป็นโครงสร้าง 3 มิติ หรือร่างแห ให้การยึดติดที่แข็งแรง สารยึดติดที่แข็งตัวด้วยวิธีนี้เป็นเรซินหรือตัวยึดประเภทเทอร์โมเซต ซึ่งมีสมบัติสำคัญเฉพาะตัวทางเคมี สามารถก่อให้เกิดการเชื่องโยงได้ เมื่อสารยึดติดเกิดการแข็งตัวแล้วจะไม่สามารถหลอมเหลวละลายได้ง่ายด้วยความร้อนหรือนำกลับมายึดติดใหม่ได้ สารยึดติดที่สามารถแข็งตัวโดยการเกิดพอลิเมอร์ ได้แก่ อะคริลิกที่มีอีพอกซีผสมอยู่
  โดยปกติปฏิกิริยาการเกิดพอลิเมอร์สำหรับสารยึดติดเป็นปฏิกิริยาคายความร้อน ดังนั้นแนวสารยึดติด( adhesive line ) จะอุ่นกว่าบริเวณอื่น การเกิดปฏิกิริยานี้มีข้อดีกว่าการแห้งหรือแข็งตัวของสารยึดติดโดยวิธีปล่อยตัวพา คือ ความแข็งแรงของพันธะยึดติดที่แนวสารยึดติดจะแข็งแรงกว่า
2.2 การปล่อยตัวพา การแห้งหรือแข็งตัวโดยการปล่อยตัวพาเป็นการแห้งหรือแข็งตัวของสารยึดติดฐานตัวทำลายหรือฐานน้ำ ที่มีการใช้ตัวทำละลายและน้ำเป็นตัวพาเพื่อช่วยปรับความหนืดของสารยึดติดให้ได้การเปียกที่เหมาะสม ทำให้สารยึดติดสามารถแผ่ได้ทั่วบนผิวหน้าวัสดุที่ต้องการยึดติด หลังจากการใช้สารยึดติดแล้วจำเป็นที่จะต้องปล่อยตัวทำละลายหรือตัวพาออกไป เพื่อช่วยให้สารยึดติดเปลี่ยนสภาพเป็นของแข็งบนผิวหน้าของวัสดุที่ต้องการยึดติด ซึ่งการปล่อยสามารถทำได้โดยการดูดซึมตัวพาหรือระเหยไล่ตัวพาออกไป
2.3 การปล่อยให้เย็นลง การแห้งหรือแข็งตัวของสารยึดติดด้วยการปล่อยให้สารยึดติดเย็นลงแล้วสารยึดติดจะเปลี่ยนสถานะเป็นของแข็ง สารยึดติดที่ใช้วิธีการนี้เป็นพอลิเมอร์ชนิดเทอร์โมพลาสติก ขณะใช้งานเทอร์โมพลาสติกจะอ่อนตัวหรือหลอมตัวด้วยความร้อนแล้วทาไปบนวัสดุที่ต้องการยึดติด จากนั้นประกบวัสดุที่ต้องการยึดติดเข้าด้วยกันและปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นลง สารยึดติดจะเหนียวและกลายเป็นชั้นที่แข็งตัวระหว่างวัสดุที่ต้องการยึดติด สารยึดติดที่ใช้วิธีนี้ คือ สารยึดติดฮอทเมลท์ ความร้อนที่ใช้จะต้องมากพอที่ทำให้เทอร์โมพลาสติกหลอมและไหลได้ทั่วบนผิววัสดุที่ต้องการยึดติด
2.4 การใช้แรงกด วิธีนี้ไม่เชิงเป็นการแห้งหรือแข็งตัวของสารยึดติด แต่เป็นการใช้แรงกดช่วยให้เกิดการยึดติด สารยึดติดที่ใช้จะไวต่อแรงกด( pressure-sensitive adhesive ) มีความเหนียวหนืดที่ถาวรซึ่งเป็นลักษณะที่เมื่อแยกสารยึดติดที่หลังจากยึดติดแล้ว สารยึดติดยังคงสภาพเหนียวหนืดอยู่ สารยึดติดชนิดนี้เวลาใช้งานไม่ต้องปรับสภาพความหนืดให้ต่ำ และเนื่องจากมีความเหนียวหนืดที่ถาวร สารยึดติดจึงต้องได้รับการป้องการยึดติดที่อาจเกิดขึ้นก่อนการนำมาใช้งานด้วยกระดาษชนิดที่ไม่ทำปฏิกิริยาหรือยึดติดกับสารยึดติดที่เรียกว่า รีลีสซิ่งเพเพอร์( releasing paper ) เมื่อใช้งานจะต้องลอกกระดาษนี้ออก กระดาษชนิดนี้จะไม่มีร่องรอยของสารยึดติดตกค้างอยู่บนกระดาษ จากนั้นนำอีกด้านหนึ่งซึ่งมีสารยึดติดอยู่ วางบนวัสดุที่ต้องการแล้วกดเพื่อให้เกิดการยึดติดแลัวจึงลอกกระดาษอีกด้านหนึ่งออกเพื่อประกบกับวัสดุอีกชิ้นหนึ่ง บางทีเรียกสารยึดติดชนิดนี้ว่า เทปกาวสองหน้า

การไหลและการแห้งหรือการแข็งตัวของสารยึดติด


  การไหลของสารยึดติด เป็นสมบัติหนึ่งที่ช่วยให้สารยึดติดสามารถเคลื่อนไหวไปตามที่ต้องการในเครื่องทากาวได้โดยไม่ติดขัด และช่วยให้สารยึดติดสามารถไหลไปได้ทั่วบนผิวหน้าวัสดุที่ต้องการยึดติด ส่วนการแห้งหรือแข็งตัวของสารยึดติดเป็นการก่อให้เกิดพันธะการยึดติดโดยการเปลี่ยนสถานะของสารยึดติดจากของเหลวที่เปียกบนผิวหน้าวัสดุที่ยึดติดเป็นของแข็ง
1. การไหลของสารยึดติด
  การไหลของสารยึดติด เป็นค่าที่แปรผกผันกับความหนืด กล่าวคือ ถ้าสารมีความหนืดมากแสดงว่ามีการไหลไม่ดี และในทำนองเดียวกัน ถ้าสารมีความหนืดน้อยแสดงว่ามีการไหลดี การไหลของสารยึดติดแต่ละชนิดมีลักษณะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของสาร การกระจายตัวของโมเลกุล และอุณหภูมิขณะใช้งาน
1.1 ชนิดของสาร การไหลของสารยึดติดจะขึ้นกับชนิดของสารที่ใช้ว่ามีลักษณะการไหลอย่างไร เช่น การไหลคงที่ไม่ว่าจะมีแรงกระทำมากน้อย สารเหล่านี้ ได้แก่ น้ำ และกลีเซอรีน หรือการไหลอาจเปลี่ยนแปลงไปเป็นไหลดีขึ้นหรือน้อยลงเมื่อมีแรงมากระทำ
1.2 การกระจายตัวของโมเลกุล เนื่องจากสารยึดติดเป็นพอลิเมอร์ที่มีหลายโมโนเมอร์รวมกันต่อเนื่องกันเป็นโซ่ยาว สารยึดติดที่มีจำนวนการกระจายของโมเลกุลที่มีน้ำหนักมากอยู่เป็นจำนวนมาก การเคลื่อนที่จะค่อนข้างช้า การไหลของสารยึดติดจะลดลง
1.3 อุณหภูมิขณะใช้งาน มีผลต่อการไหลของสารยึดติดด้วย โดยปกติอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้โมเกุลภายในสารยึดติดเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น ความหนืดจะต่ำลงและเป็นผลให้การไหลของสารยึดติดดีขึ้น

nn

คลังบทความของเทคโนโลยีการพิมพ์